วอชิงตัน ดีซี 4 พฤศจิกายน 2553 - รายงาน “Doing Business 2011: Making a Difference for Entrepreneurs” ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำโดยบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) และธนาคารโลกระบุว่า ประเทศสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กำลังนำประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในเรื่องของความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ
นับเป็นครั้งแรกในรอบแปดปีที่ประเทศในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกก้าวเข้ามาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการตื่นตัวมากที่สุดในเรื่องของการปฏิรูปกฎระเบียบราชการเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในปีที่ผ่านมา มี 18 จาก 24 ประเทศที่มีการปฏิรูปกฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นผู้นำในด้านการอำนวยความสะดวกให้แก่การเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การขอใบอนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียนทรัพย์สิน รวมทั้งการปรับปรุงระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลและประวัติการชำระสินเชื่อของลูกค้า โดยมาเลเซียได้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการโอนทรัพย์สินด้วยการนำบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้มากขึ้น ในขณะที่เวียดนามเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีการปฏิรูปกฎระเบียบในการทำธุรกิจมากที่สุด ทำให้สถานะของเวียดนามในการสำรวจความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของไอเอฟซีและธนาคารโลกประจำปี 2554 ขยับขึ้นมาถึง 10 อันดับ มาอยู่ที่ตำแหน่งที่ 78 จากประเทศที่สำรวจทั้งสิ้น 183 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ในบรูไน ดารุสซาลาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และซามัว เทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ ยังทำให้การเริ่มธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และการจดทะเบียนทรัพย์สินทำได้ง่ายขึ้น
“เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นหัวใจสำคัญของการทำให้กฎระเบียบที่มีนั้นเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด"
นางจานามิตรา เทวัญ รองประธานฝ่ายการพัฒนาภาคการเงินและเอกชนของกลุ่มธนาคารโลกกล่าว “เทคโนโลยียังช่วยให้การปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นไปได้ง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความโปร่งใสอีกด้วย”
ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประมาณร้อยละ 85 ของประเทศทั่วโลกได้ปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจไปกว่า 1,511 มาตรการ ส่งผลให้การประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชนในประเทศเหล่านั้นมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ประเทศจีนเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่มีการปรับปรุงกฎระเบียบมากที่สุด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในภาคเอกชน ไปแล้วทั้งสิ้น 14 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมเก้าสาขาในการปฏิรูปที่ปรากฏในรายงาน Doing Business ของกลุ่มธนาคารโลก
สิงคโปร์ ยังคงครองตำแหน่งที่หนึ่งในเรื่องของความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน ส่วนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงนั้นก็ยังตามมาติด ๆ ในอันดับที่ 2 จากการที่ฮ่องกงได้เพิ่มประสิทธิภาพของการระงับข้อพิพาททางการค้าด้วยการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ส่วนสาธารณรัฐเกาหลี ไทย และมาเลเซียนั้นยังติดอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศที่ดีที่สุดในโลกในเรื่องของความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ
เมื่อดูภาพรวมของทั้ง 183 ประเทศในโลกแล้ว กลุ่มประเทศ OECD ที่มีรายได้สูงยังเป็นกลุ่มประเทศที่ดีที่สุดในเรื่องของการมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) และเอเชียใต้ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีกฎระเบียบซึ่งเป็นมิตรต่อภาคเอกชนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา ร้อยละ 66 ของประเทศกำลังพัฒนาได้มีการปฏิรูปกฎระเบียบว่าด้วยการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจาก 6 ปีก่อนที่มีเพียงร้อยละ34 เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
เกี่ยวกับรายงานประจำปีชุด Doing Business
รายงาน Doing Business เป็นรายงานประจำปีที่จัดทำโดยธนาคารโลก และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ระเบียบข้อบังคับของราชการที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรของการดำเนินธุรกิจ นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจนถึงวันที่ธุรกิจนั้น ๆ สลายตัว เช่น การเริ่มและดำเนินธุรกิจ การค้าขายกับต่างประเทศ การจ่ายภาษีอากรต่าง ๆ และการเลิกทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม รายงาน Doing Business นี้ก็ไม่ได้วัดทุกแง่มุมของการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อบริษัทและนักลงทุน อาทิ ความมั่นคงของการลงทุน เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค การฉ้อราษฎร์บังหลวง ระดับทักษะของแรงงาน หรือความเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศนั้น ๆ ผู้ที่มีความประสงค์จะนำการจัดอันดับนี้ไปใช้จึงควรที่จะพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบไปด้วย
การสำรวจโดยธนาคารโลกและไอเอฟซีนี้ช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐในประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศหันมาให้ความสนใจกับการปฏิรูประเบียบราชการ รวมทั้งได้ถูกนำไปเป็นพื้นฐานของการวิจัยเพิ่มเติมถึงผลกระทบของกฎระเบียบที่ควบคุมการดำเนินธุรกิจในภาคเอกชนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปที่ www.doingbusiness.org
เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารโลก
กลุ่มธนาคารโลกเป็นแหล่งเงินทุนและความรู้เพื่อประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก ประกอบด้วยสถาบันที่เกี่ยวโยงใกล้ชิดยิ่ง 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะฟื้นฟูและพัฒนา (the International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) สมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (the International Development Association: IDA) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (the International Finance Corporation: IFC) สถาบันประกันการลงทุนแบบพหุภาคี (the Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) และศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อยุติความขัดแย้งด้านการลงทุน (the International Centre for Settlement of Investment Disputes: ICSID) สถาบันเหล่านี้มีบทบาทที่ชัดเจนในภารกิจเพื่อต่อสู้กับความยากจน และการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา