Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์

นโยบายใหม่ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลของธนาคารโลกมีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม นี้





กรุงวอชิงตัน ดีซี 3 มิถุนายน 2553 – ธนาคารโลกกล่าวในวันนี้ว่าธนาคารพร้อมที่จะเริ่มต้นดำเนินการของนโยบายใหม่ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูล (Access to Information) ในขั้นแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งนโยบายนี้เป็นหนึ่งของการปฏิรูปสำคัญหลายประการที่ธนาคารโลกกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความรับผิดชอบในการทำงานของธนาคาร

นโยบายใหม่นี้ทำให้ธนาคารโลกมีสถานะเป็นผู้นำด้านความโปร่งใสขององค์กรระดับพหุภาคี เป็นการเปลี่ยนแนวปฏิบัติใหม่จากนโยบายการเปิดเผยข้อมูลเดิมที่ธนาคารเป็นผู้กำหนดว่าข้อมูลใดที่สามารถเปิดเผยแก่สาธารณชนได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลทุกประเภทที่อยู่ในความครอบครองของธนาคาร ซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีข้อมูลที่ยกเว้น (บัญชีข้อมูลยกเว้นครอบคลุมข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน   ข้อมูลอันมิใช่ข้อมูลสาธารณะที่ประเทศสมาชิกมอบให้ธนาคารโลก  และเอกสารซึ่งบรรจุการถกเถียงในเบื้องต้นระหว่างเจ้าหน้าที่สถาบันเป็นการภายใน หรือ deliberative information เป็นอาทิ)

นโยบายใหม่นี้เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่ธนาคารดำเนินการอยู่ได้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้อย่างสมบูรณ์ตลอดวงจร  “นโยบายการเปิดเผยข้อมูลนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายโดยทั่วไป แต่เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรขนานใหญ่ ทั้งในด้านการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและในด้านการมองและจัดการข้อมูลของธนาคารโลก” นายเจฟ กัทแมน รองประธานฝ่ายนโยบายปฏิบัติการและบริการประเทศ กล่าว

ธนาคารโลกจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจหลักทั้งหลายในระหว่างการพัฒนาและดำเนินโครงการให้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปฏิบัติการต่างๆ ที่สนับสนุนโดยธนาคารโลกและสร้างผลลัพธ์ด้านการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ข้อมูลใหม่ที่ธนาคารโลกจะเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะนั้นรวมถึงผลการตัดสินใจของการประชุมทบทวนแนวคิดโครงการ การติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ และการทบทวนความก้าวหน้าระยะกลางของโครงการ ตัวอย่างของข้อมูลที่จะมีการเปิดสาธารณะหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม ได้แก่

  • บันทึกการประชุมของคณะกรรมการบริหาร
  • ข้อสรุปของประธานจากการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการร่วม (Committee of the Whole)
  • ข้อสรุปการเจรจาต่างๆ
  • รายงานประจำปีของคณะกรรมการบริหาร
  • รายงานสถานการณ์ดำเนินงานและผลการดำเนินโครงการ
  • รายงานการตรวจสอบการเงินประจำปีของผู้กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ (ซึ่งได้รับการเชิญให้เข้าเจรจาต่อรองหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2553)
  • การสำรวจผลการดำเนินโครงการในแต่ละประเทศ
  • บันทึกแนวคิดโครงการและแผนการปรึกษาหารือสำหรับการทบทวนนโยบายซึ่งต้องอาศัยการหารือจากภายนอก

“ประสบการณ์ของสถาบันอื่นและประเทศที่มีการกำหนดนโยบายเปิดข้อมูลสู่สาธารณะในระดับกว้างขวางขนาดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรายังจะต้องเรียนรู้ต่อไปอีกมากในอนาคต แต่ธนาคารโลกยึดมั่นในหลักการซึ่งเป็นรากฐานของนโยบายนี้ – นั่นก็คือการใช้โอกาสการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับการปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการพัฒนา”  นายปีเตอร์ สตีเว่นส์ ประธานคณะทำงานด้านนโยบายเปิดเผยข้อมูลและผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายนอก กล่าว

ความท้าทายประการใหญ่ที่สำคัญของธนาคารโลกคือการสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เข้าข่ายการเปิดสาธารณะตั้งแต่วันที่  1 กรกฎาคมเป็นต้นไปและการรับมือกับปริมาณคำร้องขอข้อมูลที่คาดว่าคงจะพุ่งสูงจนกว่าระบบใหม่จะเข้าที่โดยสมบูรณ์และเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกอบรมและคุ้นเคยกับการปฏิบัติตามนโยบายใหม่นี้อย่างทั่วถึง หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคมธนาคารโลกจะยังคงทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ยกระดับระบบต่างๆ ให้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ เปลี่ยนสถานะเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นความลับที่เข้าข่ายให้เปิดเผยได้และปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้ราบรื่นต่อไป

นโยบายนี้ได้มีการเตรียมการมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้อนุมัติเห็นชอบนโยบายดังกล่าวเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ในการวางระบบและพัฒนากระบวนการที่จำเป็นสำหรับการนำนโยบายไปปฏิบัติซึ่งรวมถึงการดำเนินการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ปรับปรุง เสริมสร้างหรือพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัยและปรับปรุงการใช้งานของฐานข้อมูลและส่วนตอบโต้กับผู้ใช้ (User interface) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการขอข้อมูล
  • ออกแบบและสร้างขั้นตอนการดำเนินงานให้เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อเอื้ออำนวยการเปิดเผยข้อมูลเชิงรุกในเว็บไซต์สำหรับบุคคลภายนอก
  • ตระเตรียมเอกสารทางประวัติศาสตร์นับพันรายการให้พร้อมเปิดเผยแก่สาธารณชนนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป
  • พัฒนาโครงการฝึกอบรมพนักงานและทรัพยากรสนับสนุนการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานกว่า 10,000 คน
  • กำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในด้านข้อมูลสาธารณะและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข้อมูลสาธารณะผ่านศูนย์ข้อมูลสาธารณะในประเทศ
  • วางกรอบการแปลเอกสารของธนาคารโลกให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ และ ทบทวนการนิยามระดับขั้นของข้อมูล (Information classification)

“เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรมาโดยตลอดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายนี้และได้ขอความคิดเห็นจากองค์กรเหล่านี้เกี่ยวกับประเด็น “การเข้าถึงข้อมูล” ที่ซับซ้อนสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งอยู่นอกเมืองหลวงในประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนวิธีที่องค์กรเหล่านี้จะสามารถช่วยเราทดสอบระบบใหม่นี้และบ่งชี้ปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้น” นายมาร์วัน มาวเชอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายข่าวสารและกิจการภายนอก กล่าว

นโยบายใหม่นี้ได้รับแนวคิดมาจากกฎหมายว่าด้วยสิทธิทางข้อมูลของอินเดียและกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพทางข้อมูลของสหรัฐอเมริกา  นโยบายนี้มีบทบัญญัติอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลบางประเภทที่เป็นความลับตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น หลังจากผ่านไป 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น  เนื่องจากธนาคารโลกตระหนักดีว่าความละเอียดอ่อนของข้อมูลนั้นลดลงตามเวลาที่ผ่านไป นอกจากนี้  นโยบายดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ด้วย

“ผู้ร้องขอข้อมูลสามารถอุทธรณ์ได้ถ้าหากผู้นั้นเชื่อว่าธนาคารโลกปฏิเสธโอกาสการเข้าถึงข้อมูลที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะตามนโยบายใหม่นี้โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หรือเมื่อผู้ร้องเรียนต้องการขอเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อมูลลับตามนโยบายนี้”  นางแอน-มารี เลอรอย รองประธารอาวุโสและที่ปรึกษาทั่วไปของกลุ่มธนาคารโลก กล่าว

นโยบายการเปิดเผยข้อมูลนี้จะใช้กับธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะฟื้นฟูและพัฒนา (IBRD) สมาพันธ์การพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) ด้วย ส่วนบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และสถาบันประกันการลงทุนแบบพหุภาคี (MIGA) นั้นมีนโยบายต่างหากของสถาบันอยู่แล้ว

ผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านนโยบายนี้ได้ที่เว็บไซด์  www.worldbank.org/wbaccess และมีการแปลภาษา อาหรับ จีน ฝรั่งเศส โปรตุเกส รัสเซีย และสเปน

การปฏิรูปภายในอื่นๆ ที่ธนาคารโลกกำลังดำเนินการอยู่นั้นครอบคลุมในด้านการให้เงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในธนาคาร   ส่งพนักงานไปประจำการในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเพื่อให้สนับสนุนลูกค้าได้ดีขึ้นในด้านการแก้ไขป้ญหาความยากจน   และเปิดโอกาสให้สาธารณชนใช้ข้อมูลด้านการพัฒนาของธนาคารโลกได้โดยสะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านเว็บไซด์ http://data.worldbank.org

ความเป็นมาและวิวัฒนาการของนโยบาย

ธนาคารโลกได้ออกกฎระเบียบด้านการเปิดเผยข้อมูลเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2528   คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้อนุมัตินโยบายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2536   จากนั้นเป็นต้นมา  นโยบายนี้ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี   คณะกรรมการบริหารและคณะผู้บริหารของธนาคารได้ทำการทบทวนนโยบายเป็นระยะและขยายขอบข่ายของนโยบายในปี 2544-2545-2546 และ 2548 ตามลำดับ

ธนาคารโลกได้ปรับปรุงนโยบายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลขึ้นโดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือทั้งภายในและภายนอกสำนักงานประจำประเทศใน 33 ประเทศทั่วโลก    และผ่านเว็บไซต์สำหรับบุคคลภายนอกของธนาคารโลก   การปรึกษาหารือดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2552    นโยบายนี้สะท้อนความคิดเห็นของประเทศสมาชิก ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้แทนรัฐสภา สื่อมวลชน ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานที่ให้ทุน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน กรุงเทพฯ
บุณฑริกา แสงอรุณ
โทร: (02) 686-8326
bsangarun@worldbank.org


Api
Api

Welcome