Skip to Main Navigation
ข่าวประชาสัมพันธ์

เอเชียตะวันออกต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจต่อไปหากต้องการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553




โตเกียว 7 เมษายน 2553 –  ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่ฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ยังจะสามารถเติบโตได้อีกในทศวรรษหน้าแม้สภาวะแวดล้อมโดยรวมของโลกจะยังอ่อนแออยู่ก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศเหล่านี้เองในการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจที่โครงสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในการผสมผสานเศรษฐกิจการค้าของแต่ละประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการร่วมมือกันเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนด้วย

นี่เป็นสาระสำคัญของรายงาน East Asia & Pacific Economic Update ฉบับล่าสุด ซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ในวันนี้  รายงานฉบับดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจขเองเอเชียตะวันออกที่ธนาคารโลกจัดทำทุกหกเดือน

ทั้งนี้ธนาคารโลกระบุว่า ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ มาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลเอเชียตะวันออกได้นำมาใช้กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศตลอดปีที่ผ่านมา และการที่ผู้บริโภคเริ่มจะหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเมื่อสมัยเพิ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ ๆ นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปัจจุบันกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารโลกจึงตัดสินใจปรับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกให้สูงขึ้น จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2553 ก็ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 8.7

ธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตว่า เอเชียตะวันออกสามารถก้าวผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดมาได้โดยที่หนี้ของภาครัฐ หนี้ต่างประเทศ และดุลงบประมาณมิได้อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก นอกจากนี้ กลไกเพื่อคุ้มครองสังคมที่มีอยู่ก็ช่วยบรรเืทาผลกระทบจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อฐานะความเป็นอยู่ของประชากรผู้ยากไร้และผู้อยู่ในข่ายเปราะบางบางส่วนได้

แม้จะค่อนข้างมั่นใจกับภาพรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาคตลอดปี 2553 นี้ เนื่องจากมีแรงหนุนที่ดีจากจีนก็ตาม แต่ธนาคารโลกก็ยังเตือนว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกที่เอเชียตะวันออกจะต้องเผชิญในระยะกลางจะไม่เหมือนกับสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกต่อไป 

“สถานการณ์ที่เรียกว่า “สถานการณ์ปกติ” ของโลกในอนาคต จะเป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวอย่างช้า ๆ ในขณะที่ภาวะการเงินโลกยังค่อนข้างตึงอยู่ ขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้ของประเทศเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ เพราะเป็นหนึ้ที่รัฐจำเป็นจะต้องสร้างในช่วงที่กำลังดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การค้าโลกก็จะยังไม่สดใสเท่าที่เคยเป็นในอดีต” นายวิกรม เนห์รู หัวหน้านักเศรษฐศาตร์ของธนาคารโลกในเอเชียตะวันออกกล่าว

“ในสถานการณ์เช่นนั้น ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเมื่อใดจึงจะแป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออก และเมื่อใดเป็นเวลาที่สมควรที่จะกลับไปดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่จำเป็น เพื่อผลักดันให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกนั้นมีแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศจีน  ธนาคารโลกระบุว่าการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจหมายถึงการปรับเปลี่ยนให้ภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะกลไกสำหรับผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว นอกจากนี้ จีนก็ควรที่จะลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนลงบ้าง  รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับประเทศซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางเช่นไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เรื่องเร่งด่วนสำหรับภาครัฐก็คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากร (หรือที่เรียกว่าทุนมนุษย์ในศัพท์เศรษฐศาสตร์) อันจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่การผลิตและสินค้าส่งออกของประเทศได้ในระยะยาว สำหรับประเทศรายได้น้อยเช่นลาวและกัมพูชา รัฐบาลของแต่ละประเทศก็จำเป็นจะต้องหาวิธีที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของตนผสมผสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาคและระดับโลกให้ได้

ส่วนประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์นั้นก็ควรที่จะต้องนำนโยบายการคลังที่เหมาะสมมาใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค อีกทั้งเพื่อทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเป็นการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว สำหรับหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลแปซิฟิก ธนาคารโลกชี้ว่า  หัวใจสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ก็คือการผสมผสานระบบเศรษฐกิจและการค้าของตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน  

พร้อมกันนี้ ธนาคารโลกยังให้ความเห็นด้วยว่า  ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกนั้นต่างก็มีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันในระหว่างที่แต่ละฝ่ายกำลังพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกที่อ่อนแอกว่าเดิมเช่นทุกวันนี้  นั่นก็คือการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นเพื่อตักตวงประโยชน์จากการค้าเสรี การหันมาใช้เทคโนโลยีที่ “สะอาด” มากขึ้นในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของตนและลดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยด้วย  

“เราจะเห็นว่าตลาดการค้าและบริการของภูมิภาคนี้มีแต่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น  การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น (ด้วยการลดมาตรการที่กีดกันการค้าระหว่างประเทศลง รวมทั้งส่งเสริมการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจหรือประกอบการค้าต่างประเทศ) จะช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในเครือข่ายการผลิตทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่าย  อีกทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระหว่างประเทศ” นายอิวายโล อิซวอร์สกี้ ผู้เขียนหลักของรายงาน East Asia & Pacific Economic Update และนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำเอเชียตะวันออกกล่าว

นอกจากนี้ นายอิวายโลยังกล่าวเสริมว่า การหามาตรการมารับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ  ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปัญหาเสถียรภาพด้านพลังงานด้วยนั้น จะช่วยให้มหานครต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกซึ่งกำลังขยายตัวขึ้นทุกวัน กลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่มากขึ้นได้   

“ภูมิภาคนี้มีศักยภาพมากที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำของโลกในการบุกเบิกให้เทคโนโลยีที่สะอาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ“ เขาให้ความเห็น “การทำเช่นนั้นไม่แต่จะแค่ทำให้มหานครต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกมีความน่าอยู่มากขึ้นและเจริญเติบโตโดยอาศัยวิถีที่ยั่งยืนกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้เอเชียตะวันออกมีความได้เปรียบมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่จะเป็นตัวผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภายภาคหน้า”

สื่อมวลชนโปรดติดต่อ
ใน วอชิงตัน ดีซี
อลิซาเบ็ธ มีลี่ย์
โทร: +1 (202) 458-4475
emealey@worldbank.org
ใน กรุงเทพฯ
พิชญา ฟิตต์ส
โทร: (08) 4752-1783
pfitts@worldbank.org


ข่าวประชาสัมพันธ์ ที่:
2010/339/EAP/ENG

Api
Api

Welcome