วอชิงตัน 15 มกราคม 2553 — ขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงผู้ผลิตกับลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศนั้นกำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีอะไรต้องทำอีกมากมายเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็วกว่านี้ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือให้บริษัทต่างๆ ในภาคเอกชนสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการฟื้นตัวของการค้าโลกได้อย่างเต็มที่ รายงานการสำรวจเรื่องโลจิสติกส์ทางการค้าฉบับใหม่ล่าสุดของธนาคารโลกกล่าว
รายงาน Connecting to Compete 2010: Trade Logistics in the Global Economy ซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่ในวันนี้ จัดให้เยอรมนีเป็นอันดับหนึ่งของโลกในเรื่องความก้าวหน้าด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Indicators LPI) ทั้งนี้ ที่มาของรายงานฉบับนี้มาจากการสำรวจการดำเนินงานด้านขนส่งและโลจิสติกส์ใน 155 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดว่าเป็นการสำรวจบริษัทรับขนส่งสินค้าและผู้รับขนส่งด่วนระหว่างประเทศที่ครอบคลุมมากที่สุดที่เคยมีมาทีเดียว
“การแข่งขันทางเศรษฐกิจกำลังผลักดันหลายต่อหลายประเทศให้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพของตนในด้านต่าง ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง และการปรับปรุงธุรกิจขโลจิสติกส์ทางการค้านั้นเป็นวิธีที่ฉลาดวิธีหนึ่งในการสร้างประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจ” นายโรเบิร์ต บี เซลลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวขณะเยือนกรุงเบอร์ลินในวันที่ 13-15 มกราคม 2553 เพื่อหารือประเด็นการพัฒนาและเศรษฐกิจโลก
“การผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างตลาดการค้าต่างๆ รวมทั้งระหว่างผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภคนั้น จะสร้างโอกาสสำหรับการเติบโตและการลงทุนให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล จึงควรจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในเยอรมนีในวันที่เรานำรายงานฉบับนี้ออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์เป็นอันดับหนึ่งของโลก”
จากการสำรวจ LPI นั้นพบว่า ประเทศที่ครองอันดับต้น ๆ ด้านโลจิสติกส์นั้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศซึ่งมีสถานะที่สำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและภูมิภาค (global and regional supply chains) ในทางตรงกันข้าม สิบประเทศที่อยู่อันดับต่ำที่สุดแทบจะทั้งหมดมาจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและต่ำกว่า
แม้รายงานฉบับนี้จะแสดงให้เห็นถึง “ช่องว่างด้านโลจิสติกส์” ที่กว้างมากระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันการสำรวจของธนาคารโลกก็ชี้ให้เห็นว่า ในบางประเด็นที่มีความสำคัญต่อธุรกิจโลจิสติกส์ทางการค้านั้นกำลังมีพัฒนาการในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบศุลกากรให้ทันสมัย การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาบริการโลจิสติกส์ของภาคเอกชน
“หลังจากการสำรวจครั้งแรกในปี 2550 ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้ปรับปรุงขีดความสามารถในการเชื่อมโยงกับตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่จะช่วยเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายโอทาเวียโน คานูโท รองประธานธนาคารโลกสำหรับงานบรรเทาความยากจนและบริหารเศรษฐกิจกล่าว “แต่หากประเทศกำลังพัฒนาต้องการที่จะก้าวออกจากวิกฤติครั้งนี้ในสภาพที่แข็งแกร่งกว่าเดิมและในสถานะที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น พวกเขาต้องลงทุนปรับปรุงโลจิสติกส์ทางการค้า”
“ประเทศที่มีโลจิสติกส์ดีกว่าจะสามารถเติบโตได้เร็วกว่า แข่งขันได้ดีกว่า และสามารถส่งเสริมการลงทุนได้มากกว่า (ประเทศที่ไม่ได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์)” นายเบอร์นาร์ด โฮคแมน ผู้อำนวยการแผนกการค้าของธนาคารโลกกล่าว “งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงผลงานด้านโลจิสติกส์ในประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลางจะสามารถกระตุ้นการค้าให้เพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 15 และให้ประโยชน์กับทุกๆบริษัทและผู้บริโภคด้วยราคาที่ต่ำลงและคุณภาพบริการที่ดีขึ้น”
นาย ฌอง ฟรองซัว อาร์วิส และ นางโมนิก้า อลินา มุสตรา นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดนั้น คุณภาพของบริการโลจิสติกส์ในแต่ละประเทศดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับรายได้ต่อหัว
โดยการสำรวจในหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของบริการโลจิสติกส์ในประเทศนั้น ๆ ดีกว่าที่จะสามารถคาดเดาได้จากระดับรายได้ของประเทศ ส่วนสิบประเทศที่ทำได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ อย่างมากมายก็คือประเทศจีน (27) อินเดีย (47) ยูกันด้า (66) เวียดนาม (53) ไทย (35) ฟิลิปปินส์ (44) และแอฟริกาใต้ (28)
ในทำนองเดียวกัน ประเทศที่มีสามารถพัฒนาคุณภาพของบริการโลจิสติกส์ทางการค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิมในการสำรวจครั้งที่สองในปีนี้เมื่อเทียบกับผลการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 มักเป็นประเทศที่ทำการปฏิรูปโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกการค้าทั้งระบบตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ประเทศโคลอมเบีย บราซิลและตูนีเซีย
ส่วนการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของประเทศกำลังพัฒนาในแต่ละภูมิภาคนั้น แอฟริกาใต้ (28) จัดเป็นประเทศที่ดีที่สุดในทวีปแอฟริกา ในขณะที่จีน (27) เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โปแลนด์ (30) เป็นที่หนึ่งในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก และบราซิล (41) เป็นที่หนึ่งของละตินอเมริกา ส่วนในตะวันออกกลางนั้น เลบานอน (33) จัดเป็นอันดับหนึ่ง และในเอเชียใต้ อินเดีย (47) คือประเทศที่ทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ผลการศึกษาในครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า คุณภาพของหน่วยงานในภาครัฐและการประสานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการผ่านแดนต่าง ๆ มีอิทธิพลอย่างสูงต่อคุณภาพของบริการโลจิสติกส์ในประเทศนั้นๆ โดยการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า หน่วยงานศุลกากรมักจะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าหน่วยงานอื่น ๆ นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปการบริหารจัดการการผ่านแดน ในประเทศที่อยู่ในอันดับต่ำๆ นั้น โดยเฉลี่ยแล้ว มีการใช้เจ้าพนักงานตรวจสอบตู้สินค้าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และทุกหนึ่งในเจ็ดคอนเทนเนอร์โดนตรวจอย่างน้อยสองครั้ง (ทำให้การผ่านสินค้าเข้าออกต้องล่าช้าออกไป)
ประเด็นอื่นๆ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงก็มีทั้งนโยบายการขนส่ง การส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า เช่น การขนส่งทางรถ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการขนส่งทางรถไฟ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการค้า สำหรับประเทศรายได้ต่ำหลายประเทศ ข้อจำกัดที่รัดตัวที่สุดคือเรื่องบริการโลจิสติกส์กับระบบการส่งสินค้าข้ามพรมแดน ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางซึ่งมีผลการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ดีกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำแล้วนั้น ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการค้าเป็นลำดับแรก
ธนาคารโลกมีโครงการที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงโลจิสติกส์ทางการค้าในประเทศกำลังพัฒนาหลายโครงการ เช่น โครงการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจและปรับปรุงจุดข้ามแดนหลักระหว่างประเทศยูกันด้ากับเคนยาที่มาลาบา ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการข้ามแดนจากสามวันให้เหลือแค่สามชั่วโมง
ในประเทศตูนิเซีย ธนาคารโลกได้อนุมัติโครงการมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขันโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านการค้าและช่วยให้ขั้นตอนการตรวจเอกสารข้ามพรมแดนรวดเร็วยิ่งขึ้น ในอัฟกานิสถาน ธนาคารโลกกำลังให้ทุนสำหรับโครงการมูลค่า 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงจุดผ่านแดนหลักสี่จุดให้ทันสมัยและนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ ส่งผลให้รายได้ศุลกากรเพิ่มขึ้นจาก จาก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เมื่อตอนเริ่มโครงการในปี 2547 เป็นกว่า 399 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551
นอกจากนี้ธนาคารโลกกำลังร่วมกับบริษัทไอบีเอ็ม บริษัทไมโครซอฟท์และ Global Express Association เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนภายใต้ชื่อว่า "ความช่วยเหลือเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า" (Aid for Trade Facilitation) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการนำร่องในประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในการปรับปรุงขั้นตอนการผ่านพรมแดนให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วยิ่งขึ้น