ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาเรื้อรังสู่รุ่นต่อรุ่น นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คนและมีเด็กกำพร้ามากกว่า 3,000 คน ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และบางอำเภอในสงขลา ความไม่สงบนี้ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายและสร้างบาดแผลทางจิตใจ เช่น ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวถึงปัญหาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่กระทบต่อสุขภาพจิตว่า “วัฒนธรรมภาคใต้มองว่าความพิการคือการถูกลงโทษจากพระเจ้า จึงไม่มีใครอยากเป็นผู้พิการ” นายสุชาติย้ำถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประกอบกับการขาดบริการสนับสนุนด้านต่าง ๆ กำลังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก แม้แต่จังหวัดใหญ่ ๆ ในภาคใต้ก็ไม่มีสถานพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต อีกทั้งผู้คนยังขาดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิ นายสุชาติจึงเน้นถึงความสำคัญของการให้การศึกษาแบบองค์รวมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน, สิทธิเด็ก และสิทธิของผู้พิการ เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน
เพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกนี้ ธนาคารโลกจึงให้การสนับสนุนแก่สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ผ่านกองทุน Human Rights, Inclusion, and Empowerment Trust Fund (HRIETF) เพื่อจัดตั้งโครงการฝึกทักษะการเป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งมุ่งเสริมสร้างให้ชุมชนมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว, มีการดูแลสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน
หลักสูตรนี้ได้รับการพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจนถึงครอบครัวที่ประสบกับผลกระทบ เพื่อให้มั่นใจว่าหลักสูตรนี้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นและให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้วางใจ นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นี้ เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าขาดความไว้วางใจ ทุกคนต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครได้บ้าง" ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพจึงเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและผลประโยชน์ของครอบครัวและเด็ก ๆ โดยตรง ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดทำหลักสูตรขึ้นซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 บท และใช้ระยะเวลาในการสอน 6 เดือน รวมถึงการลงพื้นที่เยี่ยมชุมชน, การให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้การเป็นผู้นำและขยายโครงการให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้จัดทำโครงการและผู้ที่ประสบกับผลกระทบจากความขัดแย้ง