Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มาพบกับผู้ริเริ่มโครงการปกป้องทะเลไทย: ภราดร จุลชาต

Image

ภราดร จุลชาต มีบทบาทสำคัญในจัดตั้งกลุ่มร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดขยะพลาสติกในทะเลไทยลงให้ได้ 50% ภายในในปีพ.ศ. 2571 นอกจากนี้ ในระหว่างปีพ.ศ. 2561-2563 เขายังได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้เป็นคณะอนุกรรมการจัดการขยะพลาสติกซึ่งนำโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เขาเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทพรีแพคประเทศไทยจำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น

กรุณาเล่าถึงตัวคุณ

ผมเกิดและเติบโตมากับพี่น้องอีกสามคนในกรุงเทพ ประเทศไทย  ตอนนั้นผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาทำอาชีพนี้ ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กฝึกซ้อมเพื่อเป็นนักเทนนิสมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้มีโอกาสไปศึกษาต่างประเทศคือที่มิชิแกน สหรัฐอเมริกา ที่ต่อมาผมได้พบรักกับภรรยาของผม ตอนนี้ ผมเป็นคุณพ่อลูกสอง ทำงานสองงานและใช้เวลาที่มีความสุขกับครอบครัว

 

เมื่อนึกถึงทะเลคุณคิดถึงอะไร? มันมีความหมายกับตัวคุณอย่างไร?

ทะเลนำความสุขมาให้ครอบครัวของผมอย่างมาก  ครอบครัวผมรักทะเล โดยเฉพาะลูก ๆ ขออย่างตัวผมก็เป็นนักดำน้ำตัวยงมานานกว่า 30 ปีแล้ว เช่นเดียวกับลูกชายลูกสาวของผมที่เริ่มดำน้ำมาตั้งแต่อายุ 12 (ตอนนี้คนหนึ่งอายุ 28 อีกคนอายุ 26 ปี) เราแทบจะรอไม่ไหวที่จะได้ไปทะเลอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

 

คุณมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทะเลไทยกำลังเผชิญอยู่ในปี 2563 คืออะไร?

ผมเห็นความท้าทายสำคัญสองประการคือ (1) เศษพลาสติกในทะเลและ (2) ภาวะโลกร้อน ขยะพลาสติกไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร แต่ยังคร่าชีวิต และเหล่าพลาสติกจิ๋วยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารอีกด้วย เมื่อพูดถึงภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นส่งผลให้ปะการังถูกทำลายอย่างมากมาย ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมเห็นปะการังในบางจุดดำน้ำที่ผมชอบกลายเป็นปะการังฟอกสีไปเยอะทีเดียว มันน่าเศร้านะ

 

กรุณาเล่าเรื่องงานของคุณให้เราฟังสักหน่อย งานของคุณช่วยลดมลพิษพลาสติกในทะเลได้อย่างไร?

ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ก่อตั้งกลุ่มร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการพลาสติกและขยะแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขยะพลาสติกทางทะเลในประเทศไทยลง 50% ภายในปี 2571 เราเรียกโครงการนี้ว่า Thailand PPP Plastic ซึ่งประกอบด้วยผู้ร่วมโครงการจากภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนด้วย ขณะนี้เรามีผู้ร่วมโครงการ 42 องค์กร เราได้แบ่งงานออกเป็นด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ การส่งเสริมและการศึกษา นวัตกรรม จนถึงการสร้างฐานข้อมูล


Image

(รูปภาพ: ได้รับมา)


ทางแก้ปัญหาที่เรานำเสนอ คือ การนำแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับห่วงโซ่อุปทานพลาสติกทั้งหมดมาใช้ โดยใช้แนวคิด 3Rs (รีไซเคิล, นำมาใช้ใหม่, ลดขนาด) และการขยายตลาดสำหรับวัสดุพลาสติกรีไซเคิล  ในช่วงแรกเราพยายามลดปริมาณขยะพลาสติกจากระบบการจัดการขยะแบบเดิม ๆ ที่ถูกนำมาทิ้งลงในหลุมฝังกลบ เราได้ทดลองใช้โมเดลนี้ในจังหวัดระยองซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีและยานยนต์ โดยทำงานร่วมกับเทศบาลเพื่อแยกขยะพลาสติก สร้างกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อทำการคัดแยก ทำงานร่วมกับผู้รีไซเคิล และส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิลในหลายตลาด โครงการนี้ได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่กำลังมองหาวิธีการจัดการกับมลพิษพลาสติกจากทะเล  นวัตกรรมทางเทคนิคส่วนใหญ่ที่มีอยู่ทุกวันนี้คือการค้นหาผลิตภัณฑ์และตลาดสำหรับขยะพลาสติก ซึ่งรวมถึงการใช้ขยะพลาสติกในการผลิตวัสดุทำถนนและไม้เทียมและ upcycling ขยะพลาสติกให้เป็นสิ่งทอ ผมคิดว่านวัตกรรมทางเทคนิคมีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากภาคเอกชนภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนก็น่าสนใจและมีความจำเป็นเช่นกัน

 

อะไรเป็นพลังขับดันให้คุณทำงานนี้?

ครอบครัวของผมและความรักที่เรามีต่อท้องทะเล  เราใช้เวลาพักผ่อนส่วนใหญ่ที่ทะเล ผมอยากทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ทะเลยังคงสภาพเดิมที่อยู่ในความทรงจำวัยเยาว์ของผม ที่น้ำทะเลใสสะอาดและใต้ท้องทะเลเต็มไปด้วยชีวิตและสีสันละลานตา ผมยังหวังว่าลูกหลานในอนาคตของผมจะได้เห็นทะเลที่สวยงามยิ่งใหญ่ในแบบที่ผมเห็นหรืออย่างน้อยก็ในสภาพที่น่าดูกว่านี้  เมื่อห้าปีที่แล้วที่ผมเข้ามาเป็นประธานของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ผมจึงได้ตระหนักว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกกลายเป็นหนึ่งในมลพิษหลักทางทะเล มันเป็นสัญญาณเตือนให้ผมต้องทำอะไรสักอย่างเพราะผมเป็นผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมพลาสติก โปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) จากบริษัทต่าง ๆ ที่ทำอย่างเป็นเอกเทศไม่ได้ทำให้ขยะทางทะเลลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงเชื่อว่าภาครัฐภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับมลภาวะทางทะเลจึงจะเป็นผล เราจึงจะสามารถบรรลุผลที่ดีขึ้นและเห็นผลกว้างขึ้น

 

หากคุณมีคทาวิเศษที่สามารถเปลี่ยนหรือแก้ไขปัญหาทางทะเลที่เราเผชิญอยู่สักข้อหนึ่ง คุณจะเปลี่ยนหรือแก้อะไร?

ข้อแรก - ให้ทุกคนในโลกนี้ใช้หรือบริโภคพลาสติกอย่างรับผิดชอบด้วยการรีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ และลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ และให้แยกขยะพลาสติกก่อนที่จะนำไปทิ้งในถังขยะที่ถูกต้องหลังการใช้

ข้อที่สอง - ให้ทุกประเทศในโลกสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในการจัดการขยะพลาสติก ตั้งแต่โรงแยก สถานที่ทำความสะอาด โรงงานรีไซเคิล และการสร้างมูลค่าแก่ขยะพลาสติก (upcycling) จะได้ไม่มีขยะพลาสติกลงหลุมฝังกลบและเข้าสู่สภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ปนเปื้อนให้เป็น RDF และเป็นพลังงาน ส่วนที่ย่อยสลายได้ก็นำไปทำขยะอินทรีย์

Image
(รูปภาพ: ได้รับมา)
 

คุณอยากบอกอะไรกับทุกคนให้ได้ยินในวันมหาสมุทรโลก ปี 2563 นี้

การห้ามใช้พลาสติกอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม แต่การใช้อย่างรับผิดชอบอาจช่วยได้ เราต่างต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทิ้งขยะเรี่ยราด ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องให้การสนับสนุน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในการจัดการกับขยะ ซึ่งรวมถึงพลาสติกด้วย เราจึงจะลดขยะพลาสติกลงได้อย่างชัดเจน และก็หวังว่าจะไม่มีขยะพลาสติกที่สร้างมลพิษทางทะเลอีกต่อไป


**การแสดงความเห็นในบทความนี้ไม่ถือเป็นความเห็นของกลุ่มธนาคารโลกและพนักงาน



Api
Api