แนะนำตัวเองให้พวกเราฟังหน่อยค่ะ
ดิฉันชื่อรื่นวดี สุวรรณมงคล ดิฉันเติบโตขึ้นมาในครอบครัวและชุมชนที่อบอุ่นและใกล้ชิดจากจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก็ต้องขอบคุณคุณพ่อและคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นทำให้ดิฉันได้รับโอกาสที่จะเลือกเรียนและทำงานได้อย่างอิสระในด้านที่ดิฉันมีความชื่นชอบ เนื่องจากทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต่างให้ความสำคัญกับการศึกษาและบอกดิฉันว่ามันจะเป็นทรัพย์สินที่ดีที่สุดของดิฉันในอนาคต
บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่คุณพ่อและคุณแม่ของดิฉันได้ปลูกฝังเอาไว้ในตัวดิฉันและพวกท่านก็เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมที่สุดก็คือความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเอาใจใส่ ความซื่อสัตย์ และ การเป็นผู้ที่มีจิตสาธารนะ พวกท่านได้ส่งดิฉันและน้องสาวไปเรียนที่โรงเรียนราชินีบน ซึ่งเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯที่เน้นทางด้านวิชาการและประเพณีค่านิยมทางวัฒนธรรมไทย ดิฉันถูกสอนให้ไม่กลัวที่จะทดลอง พยายาม และล้มเหลว ดิฉันรู้สึกว่ามันเป็นสิทธิพิเศษที่ได้เกิดเป็นลูกของคุณพ่อและคุณแม่ผู้ซึ่งขัดเกลาดิฉันให้เป็นดิฉันในวันนี้ ดิฉันรู้สึกขอบพระคุณท่านทั้งสองอย่างสุดซึ้ง
ในด้านหน้าที่การงาน ตลอดระยะเวลา 30 ปีดิฉันมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมายในการทำงานให้กับทางภาครัฐและภาคเอกชน ดิฉันได้ตระหนักว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จคือความไว้วางใจ การปรับตัวเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง ความทุ่มเท ความรับผิดชอบ การให้ความช่วยเหลือ การทำงานเป็นทีม การทำงานเชิงรุก การลองผิดลองถูก และ ความเคารพ
ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ดิฉันทำงานหนักเทียบเท่ากับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายและไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ ดิฉันรู้สึกว่าในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ดิฉันสามารถให้ความเป็นมิตรและเข้าใจผู้คนได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นห่วงและการเอาใจใส่ดูแลคนในทีมและเพื่อนร่วมงานของดิฉัน
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากเมื่อตอนที่ดิฉันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดีสังกัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงานได้ขนานนามดิฉันว่าเป็น “สตรีผู้บริหารดีเด่นประจำปี 2560” จากภาคราชการในงานวันสตรีสากลแห่งชาติ
อะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ?
คุณพ่อและคุณแม่ของดิฉันเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ดิฉันมากที่สุด
คุณมองว่าผู้หญิงไทยก้าวข้ามอุปสรรคได้อย่างไร? มันมีความหมายอย่างไรกับคุณ?
ประเทศไทยไทยเป็นสังคมเปิดกว้าง ในประวัติศาสตร์มีวีรสตรีไทยหลายท่านที่ช่วยต่อสู้ป้องกันข้าศึกให้กับเมืองของพวกเธอและพัฒนาประเทศชาติ สุภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า “สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง” คำพูดนี้เป็นสิ่งยืนยันในการยอมรับว่าผู้หญิงไทยเป็นช้างเท้าหลังซึ่งทำหน้าที่ในการเป็นคันเร่ง ในขณะที่เท้าหน้ามักจะทำหน้าที่ในการหยุดเสียมากกว่า
ในด้านการยอมรับทางกฎหมายของความเสมอภาคทางเพศ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย พ.ศ.2476 ได้มีการกำหนดไว้ว่าผู้หญิงไทยได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเช่นเดียวกับผู้ชาย ประเทศไทยในขณะนั้นเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการลงคะแนนเสียง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
เรายอมรับว่าผู้หญิงไทยมีบทบาทมากขึ้นในด้านแรงงานและเศรษฐกิจ จากงานวิจัยของแกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชั่นแนล (2562) ผู้หญิงในประเทศไทยดำรงตำแหน่งซีอีโอและกรรมการผู้จัดการคิดเป็นร้อยละ 33 ของตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมดในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกและสูงกว่าประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในด้านตลาดทุน ความก้าวหน้าในการผลักดันบทบาทของผู้หญิงไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างมากมายและโดดเด่น ในอดีตที่ผ่านมาเราได้เห็นจำนวนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทมหาชนจำกัดเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนปี 2562 จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 677 บริษัท มีจำนวนกรรมการทั้งหมด 6,603 คน และ ร้อยละ 20 หรือ 1,313 คนนั้นเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นมีจำนวนผู้หญิงที่อยู่ในภาคแรงงานของประเทศไทย 17.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 17.1 ล้านคนในปี 2560 ช่องว่างทางเพศระหว่างผู้ชายและผู้หญิงนั้นก็ลดลงจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 8
ดิฉันดีใจที่ได้เห็นผู้หญิงไทยมีบทบาทมากขึ้นในภาคแรงงาน สำหรับตัวดิฉันเอง ดิฉันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับตั้งแต่ที่ได้มีการก่อตั้งขึ้นในปี 2535
คุณมีคำคมหรือคำพูดใดที่คุณชอบหรือไม่?
“จงอย่ากลัวที่จะล้มเหลวแต่จงกลัวที่จะไม่พยายาม” โดย รอย ที เบนเน็ต
คุณมองประเทศไทยและผู้หญิงอย่างไรในอีก 25 ปีข้างหน้า?
ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)ได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่ 5 เรื่องของความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่ 5 ประเทศไทยได้นำเอาค่านิยมสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)และปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการ รวมอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ.2560-2564 แผนยุทธศาสตร์นี้ตั้งใจที่จะ “สร้างความเท่าเทียมกันในสังคมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัยและมั่นคง” โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้ถูกนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างศักยภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมและปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้หญิงไทยทุกคน
ดิฉันหวังว่าผู้หญิงไทยจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและบริการทางการเงินและตลาดทุนเพื่อนำไปเป็นเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ทักษะทางการเงินและการรู้ดิจิทัลแก่ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้หญิงไทยเพื่อที่พวกเขาจะได้มีความรู้ในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีอื่นๆเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้น เด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่ด้อยทักษะทางความรู้ดิจิทัลจะได้รับผลกระทบในแง่ลบมากที่สุดและจะต้องดิ้นรนหางานในขณะที่เทคโนโลยีนั้นก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
ดิฉันมั่นใจว่าในอีก 25 ปีข้างหน้านี้ พวกเราจะได้เห็นรากฐานที่แข็งแกร่งขึ้นและความสำเร็จที่เกิดจากการสนับสนุนของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การดำเนินการร่วมกันและการแบ่งปันความรับผิดชอบนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเร่งความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้น
คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มความเสมอภาคทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในประเทศไทย?
ในความคิดเห็นของดิฉัน จะต้องมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผล ภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้โดยเพียงลำพัง ยกตัวอย่างเช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เพิ่งจะจัดงานพิธีลงนามเพื่อประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยมีหน่วยงานของทางภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย ทั้งหมด 24 แห่งเป็นผู้ลงนาม ดิฉันดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมในฐานะตัวแทนจาก ก.ล.ต. และได้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของก.ล.ต.ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติ
หากให้คุณพูดหนึ่งคำเพื่ออธิบายถึงผู้หญิงในประเทศไทย คำนั้นคืออะไร?
สุภาพแต่มีความแน่วแน่ มุ่งมั่นและอดทนมากๆ
ความหวังที่ยิ่งใหญ่ของคุณที่มีต่อผู้หญิงไทยในอนาคตคืออะไร?
ความหวังที่ยิ่งใหญ่ของดิฉันคือการที่ผู้หญิงไทยสามารถที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆและปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวเองให้อยู่รอดได้ในโลกที่มีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ชัดเจน
**ความคิดเห็นใดๆในบทความนี้ไม่ใช่ความเห็นโดยกลุ่มธนาคารโลกและพนักงานของกลุ่มฯ