ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2495 ยูจีน แบล็ค ประธานธนาคารโลกคนที่สาม ได้เดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยเป็นครั้งแรก และได้ร่วมสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกำลังก่อสร้างระบบควบคุมน้ำเพื่อการชลประทานให้กับพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลกเมื่อปีพ.ศ. 2492 ธนาคารโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยเรื่องเงินกู้ยืมในปีถัดมา นับว่าเป็นเงินกู้ของธนาคารโลกครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลานั้นองค์การระหว่างประเทศได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศไทยโดยตรงซึ่งเน้นให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน เขื่อน งานชลประธาน ไฟฟ้า การขนส่งทางราง และท่าเรือ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตและกิจกรรมด้านการค้าให้ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ นับเป็นเวลา 70 ปีจากวันนั้น ประเทศไทยได้เติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีพลวัตร และได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มีต่อธนาคารโลกจากการกู้ยืมและบริการงานวิเคราะห์วิจัยแบบเดิมไปสู่ความร่วมมือที่มีฐานจากความรู้ที่ใช้นวัตกรรมในการดำเนินการ
เราได้พูดคุยกับเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยคนปัจจุบันถึงเรื่องแผนการการทำงานของธนาคารโลกในประเทศไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ รวมถึงประเทศอื่น ๆ จะเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวการเติบโตของไทยได้บ้าง บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้จะมีเหตุการณ์สำคัญเป็นพิเศษสองเหตุการณ์ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้นหลังจากครั้งที่ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2493 และการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ในฐานะที่คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์และมีประสบการณ์ทำงานจากทั่วโลก คุณคิดว่าประเทศไทยมีอะไรที่มีเสน่ห์ น่าสนใจ หรือแตกต่างจากที่อื่น?
ดิฉันคิดว่า วันนี้ ยูจีน แบล็คอาจดูกรุงเทพแทบไม่ออก และดิฉันก็มั่นใจว่าเขาจะต้องทึ่งกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ที่เขาเคยมาเมื่อ พ.ศ. 2495 ประเทศไทยมีเรื่องราวความสำเร็จด้านการพัฒนา ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งมั่นคง รวมถึงการลดอัตราความยากจนที่น่าประทับใจ ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวประมาณ 5,690 เหรียญสหรัฐต่อปี และอัตราความยากจนลดลงมาก สิ่งที่ดิฉันประทับใจที่สุด คือการที่รัฐบาลและประชาชนไทยไม่ได้หยุดความพอใจแค่ความสำเร็จในเรื่องนี้ แต่ยังคงมุ่งมั่นเพื่อจะก้าวข้ามความท้าทายสำคัญต่าง ๆ เพื่อนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยต้องการให้มั่นใจว่าคนไทยทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของก้าวใหม่นี้ไปด้วยกัน ในขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมาและกลุ่มธนาคารโลกมีความร่วมมือแบบเดิมในการกู้ยืมเงินเพื่อมุ่งพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนัก แต่ทุกวันนี้ ประเทศไทยต้องการคำปรึกษาและความเชี่ยวชาญในโครงการที่เน้นฐานความรู้เป็นหนัก ในเรื่องการให้คำแนะนำเชิงนโยบายและการดำเนินการปฏิรูป สิ่งเหล่านี้ทำ
ให้เกิดความร่วมมือที่มีลักษณะเฉพาะตัวระหว่างธนาคารโลกและประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงและมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งธนาคารโลกเองสามารถนำบทเรียนของประเทศไทยไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศอื่นๆ
ตลอดระยะเวลาเจ็ดทศวรรษของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทย คุณคิดว่าคนทั่วไปควรได้รับรู้ถึงช่วงเวลาใดบ้าง?
เมื่อเราได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของการพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้น เรามักคิดไปว่าทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริง เราได้เรียนรู้บทเรียนในช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านพ้นมาได้ สิ่งที่ดิฉันอยากให้คนทั่วไปได้ทราบก็คือ เส้นทางการพัฒนาของประเทศไทยมีหลากหลายมิติ ความร่วมมือของธนาคารกับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน กลุ่มธนาคารโลกเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่มั่นคงต่อประเทศไทยแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่น ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจผันผวนหลังจากเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในช่วง พ.ศ. 2515-2518 ช่วงวิกฤติการณ์เงินโลก หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่การเมืองไทยขาดเสถียรภาพระหว่างพ.ศ. 2551-2557 เราได้เรียนรู้และปรับความร่วมมือของเราให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนชาวไทยไปด้วยกัน