นอกจากนี้ การปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนนั้นยังช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน ถึงแม้ว่าชั้นบรรยากาศโอโซนจะอยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นโลกกว่า 10 กิโลเมตร แต่แท้จริงแล้วนั้นการปกป้องชั้นบรรยากาศที่ง่ายที่สุดนั้นอยู่ใกล้พวกเราทุกคนกว่าที่คิด นี่คือแนวคิดเบื้องหลังการรณรงค์เรื่อง “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา” ซึ่งร่วมกันจัดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารออมสิน และธนาคารโลก เพื่อเพิ่มความเข้าใจและความตระหนักรู้เรื่องการปกป้องโอโซนและสภาพภูมิอากาศในกลุ่มคนทั่วไป ซึ่งชั้นบรรยากาศโอโซนนั้นจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันปกป้องรังสียูวี-บีไม่ให้เข้าถึงโลกตามธรรมชาติ โดยรังสียู-วีในระดับที่สูงนั้นจะเป็นอันตราย สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก ลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสามารถส่งผลทำลายห่วงโซ่อาหารได้
ตลอดชุดกิจกรรมซึ่งประกอบไปด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบนั้น การรณรงค์ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนทั่วไปตระหนักรู้มากขึ้นว่าพวกเขาสามารถมีส่วนช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซนได้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 300 คนนั้นมาจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา อุตสาหกรรม และนักเรียนนักศึกษาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย
“ผมเริ่มเข้าใจความสำคัญของโอโซน ซึ่งการปกป้องโอโซนก็ดีต่อสุขภาพของเราด้วย อีกอย่าง ผมเพิ่งรู้ว่ายังมีเรื่องเกี่ยวกับโอโซนมากมายที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน” นายภวัคร วรสันต์ นักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกล่าว
ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เพิ่งรู้เป็นครั้งแรกว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ แลปท๊อป ครีมโกนหนวด โรลออนระงับกลิ่น ไปจนถึงที่นอนที่เรานอนทุกคืนนั้นต่างใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเป็นส่วนประกอบในการผลิตทั้งสิ้น
ในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของพิธีสารมอนทรีออล ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จก้าวสำคัญในการควบคุมการผลิตและการใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) และไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs) ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกการผลิตและการนำเข้าสารทำความเย็นคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 นอกจากนี้ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เปลี่ยนการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs) ในการผลิตเครื่องปรับอากาศโดยเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศโอโซนสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ก้าวต่อไปของประเทศไทยคือการรับรองการปรับแก้พิธีสารมอนทรีออล ณ กรุงคิกาลี ซึ่งได้กำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนและมีกำหนดเวลาสำหรับการเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (HCFCs) ไปสู่การใช้สารอื่นที่เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น
“ฉันสนุกกับการบรรยายและงานกลุ่มที่ช่วยกันออกแบบเครื่องมือเพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนมากค่ะ เรื่องโอโซนนี่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้เยอะ มันเกี่ยวกับทั้งอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันของเราด้วย ในฐานะที่ฉันเป็นเกษตรกร สิ่งที่ฉันคิดว่าจะกลับไปทำได้คือปรับปรุงการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณชินะภัส ปูนา มั่นแน่ เกษตรกรฟาร์มออร์แกนนิก จากจังหวัดกาญจนบุรี กล่าว