เพื่อร่วมฉลองวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOT 2017) ธนาคารโลกร่วมกับ[facebook.com/bkkhumans]มนุษย์กรุงเทพฯ นำเสนอเรื่องราวหลากหลายที่จะร่วมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเป็นการขอบคุณ ให้เกียรติ และฉลองให้กับครอบครัว และสัมพันธภาพที่บุคคล LGBTI ได้รับ ได้สร้าง หรือเลือกแล้วท่ามกลางความหลากหลายของพวกเขาในประเทศไทย
“เราเป็นคนอยุธยา เกิดมาในครอบครัวมุสลิม ตอนเด็กๆ เราแฮปปี้กับการเล่นกับเพื่อนผู้หญิง พอเข้ามัธยมชัดเจนมากขึ้น แม้แต่งตัวแบบผู้ชาย แต่รู้สึกอยู่ตลอดว่าตัวเองไม่ใช่ เลยดึงกางเกงสูง ไว้ผมปอยด้านหน้า ทาแป้งดูแลตัวเอง เราเริ่มลำบากใจในการไปละหมาดที่มัสยิด เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง และลำบากใจที่อยู่กับผู้ชายเยอะๆ มีอยู่ครั้งนึงอิหม่ามพูดว่า ‘การเป็นทอมเป็นกะเทยมันบาป พ่อแม่ควรสอนลูกในทางที่ถูกต้อง’ คงพูดไปตามหน้าที่ ไม่ได้จงใจบอกใคร พอได้ยินเราก็ไม่สะดวกใจที่จะอยู่ตรงนั้นต่อ หลังจากนั้นเราเปลี่ยนมาละหมาดที่บ้าน ปกติหลังเลิกเรียนเราต้องมาเรียนศาสนาที่มัสยิดแถวบ้าน มันมีอัลกุรอานเล่มเล็ก-เล่มใหญ่ พอเรียนจบเล่มใหญ่ เราขอไม่เรียนต่อ ชีวิตค่อยๆ ถอยออกจากสังคมมุสลิม แต่ความศรัทธายังอยู่นะ เรายังถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ยังละหมาดที่ห้อง แม้ไม่ครบทุกครั้งก็ตาม”
“ถึงไม่เคยคุยกัน แต่ที่บ้านรับรู้เรื่องตัวตนเราตลอด พ่อไม่ว่าอะไร แต่แม่จะคอยเบรค พอขึ้นมหาวิทยาลัย เราเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนธรรมศาสตร์ ช่วงแรกยังแต่งชาย ขึ้นปี 2 เราขออยู่หอ เพราะเรียนหนักและทำกิจกรรมเยอะ กว่าจะเลิกก็ดึก เราเริ่มแต่งผู้หญิงตอนอยู่มหาวิทยาลัย กลับบ้านก็เปลี่ยนเป็นชุดผู้ชาย จนกระทั่งวันนึง เราขอนัดคุยกับพ่อแม่ เพื่อบอกพวกเขาว่า ‘เราต้องการแต่งตัวแบบผู้หญิง อยากให้เปลี่ยนโฟกัสจากความเป็นมุสลิม มาที่จะใช้ชีวิตยังไงให้คนรอบตัวรัก ขอให้มองกว้างมากกว่าเรื่องศาสนา’ ปรากฏว่าพ่อแม่ร้องไห้ บอกว่าเป็นความผิดของเขาที่เลี้ยงเรามาไม่ดี เป็นอะไรที่เจ็บปวดมาก ครั้งนั้นแม่บอกว่า ‘รี่ทำแบบนี้ไม่ได้นะ เราเป็นมุสลิม’ เราตอบเขาไปว่า ‘ต่อให้ตัดผมสั้น แต่งตัวเป็นผู้ชาย ภาวะข้างในของรี่ก็ผิดศาสนาอยู่ดี’
“เอาจริงๆ ในใจเราเหมือนมีปม เพราะศาสนาบอกว่า ‘คุณเป็นแบบนี้ไม่ได้’ แล้วยังบอกอีกว่า ‘ถ้าลูกทำเรื่องไม่ดี พ่อแม่ได้รับบาปเป็นสองเท่า’ เพื่อชดเชยในสิ่งที่เราเป็น เราบอกตัวเองตลอดว่า การเป็นเด็กดีและเรียนเก่งจะทำให้พ่อแม่ภูมิใจและรักเรา แม่ยังโฟกัสความเป็นมุสลิม พูดเรื่องการแต่งอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งวันรับปริญญา แม่มาพูดว่า 'ไม่คิดว่ารี่จะมีคนรักมากขนาดนี้’ วันนั้นได้ของขวัญเยอะมาก เราเป็นเด็กกิจกรรม รุ่นน้องรุ่นพี่รัก คำพูดของแม่ปลดล็อคตัวเขาเอง แม่พูดเรื่องศาสนาน้อยลง แต่พอมีอีเวนท์ศาสนาก็สะกิดชวน เราพูดตรงๆ ว่า ‘ไม่สะดวกใจที่จะไป’ หลังจากนั้นก็ไม่มีคำถามอีก ทุกวันนี้เรามีอาชีพมั่นคง เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เราเป็นแบบนี้ แต่พวกเขาพึ่งพาเราได้ เมื่อก่อนพวกเขาบอกว่าเราคือลูกชาย ตอนนี้ใครถามก็บอกว่าลูกสาว”