ปรับปรุงหลักสูตรสำหรับโรงเรียนตาดีกาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
เมื่อ 6 ปีก่อน กลุ่มบุหงารายาได้ทำงานร่วมกับชุมชนและโรงเรียนหลายแห่งเพื่อสร้างหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพเป็นหนึ่งเดียว โดยได้รวมการปรับปรุงคุณภาพครูและการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกาไว้ด้วย
“ตั้งแต่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น มีองค์กรพัฒนาภาคเอกชนเข้ามาทำงานที่นี่มากมาย แต่ยังไม่มีองค์กรไหนทำงานร่วมกับโรงเรียนตาดีกา” นายฮาซันกล่าวต่อไปอีกว่า “และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจเข้ามาทำงานเพื่ออุดช่องว่างนี้”
ด้วยการสนับสนุนจาก State and Peacebuilding Fund และ Korea Trust Fund ผ่าน โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ กลุ่มบุหงารายาได้เริ่มนำเสนอแนวคิดนี้ให้กับหมู่บ้านต่างๆ
“ในช่วงแรก คนในหมู่บ้านก็ไม่ได้ต้อนรับพวกเรานัก เขาพอใจกับการดำเนินงานของโรงเรียนตาดีกาอยู่แล้ว” นายฮาซันกล่าว “แต่เราได้ทำงานจนได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชน เราได้พูดคุยกับผู้นำหมู่บ้านและพ่อแม่เพื่ออธิบายว่าการศึกษาสำคัญอย่างไร และได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นร่วมกันเพื่อทำให้หลักสูตรสามารถดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น”
ปีนี้ กลุ่มบุหงารายาได้เปิดตัวหลักสูตร Kurikulum Standard Pendidikan Islam (KSPI) โรงเรียนตาดีกามากกว่า 2,000 แห่งในภาคใต้กำลังจะเริ่มนำหลักสูตรนี้ไปใช้ มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครูเพื่อปรับปรุงเทคนิคการสอน และเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปใช้ทำงานในพื้นที่ขัดแย้ง รวมทั้งวิธีการสอนสันติภาพในห้องเรียน
“ก่อนหน้านี้เราสอนตามแนวทางของเราเอง ไม่มีหลักสูตร เราสอนตรงตามเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ และนักเรียนก็ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก” ครูสาลีฮา สุหลง ที่โรงเรียนตาดีกานูรุลอิสลาม ในจังหวัดปัตตานีกล่าว “ตอนนี้ เราได้มีการวางแผนการทำงานและการเตรียมการสอนก่อนเข้าสอน”
การผนวกเรื่องสันติภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
นอกจากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักสูตรแล้ว โครงการนี้ยังรวมกิจกรรมเรื่องสันติภาพให้เป็นเป้าหมายโครงการด้วย บทเรียนในหลักสูตรนี้ได้สอนให้เด็กๆ เป็นคนดี ฉลาด และมีน้ำใจ ทั้งยังมีกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ที่ช่วยสร้างเสริมให้นักเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“หลักสูตรครอบคลุมหัวข้อที่มีความหลากหลายตั้งแต่ศีลธรรม สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์” นายอับดุลมูไฮมีน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาห้าจังหวัดชายแดนใต้กล่าว “การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้เกิดกระบวนการสันติภาพ จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง”
สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างโรงเรียน ชุมชน และภาครัฐ
“การวางแผนและพัฒนาหลักสูตรให้เป็นหนึ่งเดียวได้ช่วยให้ครู ชาวบ้าน และภาครัฐได้มาพบปะพูดคุยกัน เมื่อหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนตาดีกา เจ้าหน้าที่รัฐก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่าโรงเรียนกำลังสอนอะไร และนี่เองได้ก่อให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกัน” นายฮาซันกล่าว
การสร้างมาตรฐานหลักสูตรของโรงเรียนตาดีกานั้นได้ช่วยลบล้างความคิดที่ไม่ถูกต้องที่ว่าโรงเรียนสนันสนุนอุดมการณ์ที่สุดโต่ง นับตั้งแต่มีการนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ กระทรวงศึกษาธิการพบกว่าเด็กๆ มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโรงเรียน
กลุ่มบุหงารายาได้สำรวจและสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้านและผู้ปกครองซึ่งต่างก็รู้สึกขอบคุณที่ลูกหลานของพวกเขาได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น หลายชุมชนต่างเข้ามามีส่วนร่วมและทำงานร่วมกับครูเพื่อช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมของโรงรียนให้ดีขึ้นอีกด้วย
องค์กรของฮาซันได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของการศึกษาในการสร้างสันติภาพและความเชื่อใจในภาคใต้ของไทย การสร้างสันติภาพและการสอนให้ผู้คนอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของสังคมนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้หากได้รับการยอมรับและการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งหมด