Skip to Main Navigation
เรื่องเด่น

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมกับการฟื้นฟูและปรับตัว

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558


Image

ครอบครัวคนจนเมืองในจังหวัดนครสวรรค์ได้รับความเสียหายอย่างมากจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 โครงการที่ริเริ่มโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนโดยได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารโลกได้ช่วยให้ครอบครัวคนจนเหล่านี้สามารถฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีขึ้น


เรื่องเด่น
  • เมื่อปีพ.ศ. 2554 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลในจังหวัดนครสวรรค์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของไทย
  • สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (CODI) จัดทำโครงการฟื้นฟูบูรณะชุมชนโดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก โครงการนี้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กและช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนของผู้ประสบอุทกภัยที่ยังคงประสบความลำบากในการซ่อมแซมบ้านเรือน นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สมาชิกชุมชนโดยการจ้างชาวบ้านในชุมชนเพื่อทำการก่อสร้างด้วยตัวเอง
  • โครงการนี้ดำเนินงานโดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดการโครงการ ดังนั้น ชุมชนจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูและความยืดหยุ่นในการทำงานเองโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเป็นลำดับแรก

เมื่อ 4 ปีก่อน ชาวชุมชนยากจนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดนครสวรรค์และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทยต่างได้รับความทุกข์ยากจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ภัยพิบัตินี้ส่งผลให้ประชาชนกว่า 13 ล้านคนในประเทศและอีกหลายคนต้องถูกน้ำท่วมเป็นเวลาหลายเดือน

“น้ำจากแม่น้ำปิงเอ่อล้นและเข้าท่วมขังชุมชนเราอยู่นานถึง 3-5 เดือน” คุณอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ผู้นำชุมชนวัดเขาจอมคีรีนาคพรต” กล่าว “กลิ่นน้ำท่วมขังนี่แย่จนทนไม่ไหว”

อร่ามศรีได้ให้ข้อมูลเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ว่า

“พวกเราเคยเอากระสอบทรายมาสร้างเป็นกำแพงกั้นน้ำแต่ก็ไม่สามารถกันน้ำท่วมได้” เธอเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า “บ้านบางหลังถูกน้ำท่วมจนถึงหลังคาบ้าน ชาวบ้านต้องย้ายไปอาศัยอยู่บนภูเขา นอนในเต๊นท์ และรอเวลาที่น้ำลด”

หลังจากที่ชาวชุมชนได้ใช้พยายามขอยืมเครื่องสูบน้ำจากหมู่บ้านใกล้เคียงหลายครั้ง พวกเขาจึงได้ตระหนักว่าสิ่งที่สำคัญที่จะคงอยู่ตลอดไปคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อตั้งรับภัยพิบัติในอนาคตต่างหาก

การขับเคลื่อนของชุมชนจากร่องรอยของน้ำท่วมในหมู่บ้าน

หลังจากการรวบรวมข้อมูลในชุมชนแล้ว ชาวบ้านได้ทำงานร่วมกันสำรวจร่องรอยหลักฐานจากน้ำท่วมในหมู่บ้าน จากนั้น พวกเขาได้พัฒนาโครงการที่จะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้ชุมชนหลังจากผ่านการอบรมจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนแล้ว

ที่วัด ชาวบ้านได้จัดลำดับความสำคัญในแต่ละชุมชน อาทิ การซ่อมถนน การสร้าง หรือปรับปรุงคลองระบายน้ำให้ดีขึ้น รวมถึงการติดตั้งสถานีเครื่องสูบน้ำ

คุณสกล บำรุงจิตรหนึ่งในผู้นำชุมชนได้เล่าให้ฟังว่า “เราได้รับความร่วมมืออย่างดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากทุกคนสามารถเห็นผลงานเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างเช่น ถนนซึ่งชาวชุมชนได้ช่วยกันสร้างด้วยตัวเอง จากเดิมที่เคยมีชาวบ้านแค่ 20-30 คนมาช่วยกันทำ ตอนนี้เรามีชาวบ้านช่วยกันมากกว่า 100 คน เนื่องจากเรารู้ว่าประโยชน์จะตกอยู่กับทุกคนในชุมชน”


Image

บ้านของคุณยายพวง เกิดปักษ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีห้องน้ำและน้ำประปาถึงบ้าน


" เมื่อก่อน เวลายายจะไปห้องน้ำ ยายต้องเข้าไปในพุ่มไม้ แต่ตอนนี้ยายมีห้องน้ำที่เป็นห้องน้ำจริงๆ แล้ว ยายมีความสุขมากกับบ้านหลังใหม่  "

พวง เกิดปักษ์


น้ำสะอาดสำหรับคนจนในเมือง

โครงการนี้ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 3,000 ครัวเรือนใน 5 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และ นครสวรรค์ เพื่อช่วยคนจนเมืองที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมให้มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ชุมชนคนจนมากกว่า 50 แห่งได้ช่วยกันเลือกจัดลำดับ ผู้รับประโยชน์ หรือ ครอบครัว และชาวบ้านที่มีความเปราะบางที่สุดและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อาสาสมัครชาวบ้านเหล่านี้สามารถดำเนินโครงการได้ด้วยตัวเองหลังจากได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก CODI

คุณยายพวง เกิดปักษ์ อายุ 80 ปีได้ย้ายมาอาศัยอยู่ใกล้วัดตอนที่เกิดน้ำท่วม ความพิการทำให้คุณยายใช้ชีวิตอย่างลำบากอีกทั้งยังเดินไม่ค่อยสะดวก เพื่อนบ้านเลือกคุณยายให้ได้รับความช่วยเหลือเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่เป็นมูลค่า 29,000 บาท (ประมาณ 850 เหรียญสหรัฐฯ)

“เมื่อก่อน เวลายายจะไปห้องน้ำ ยายต้องเข้าไปในพุ่มไม้และขุดหลุม แต่ตอนนี้ยายมีห้องน้ำที่เป็นห้องน้ำจริงๆ แล้ว” คุณยายเล่าต่อไปอีกว่า “ยายมีความสุขมากกับบ้านหลังใหม่ ดีใจที่มีน้ำประปาถึงบ้านเพราะยายเดินไม่ค่อยได้และไปตักน้ำจากนอกบ้านไม่ไหว”

หลายปีก่อน คนจนเมืองในจังหวัดนครสวรรค์ต้องใช้น้ำจากคลองที่อยู่ใกล้เคียง

 “หลังจากที่เราได้พูดคุยและใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนถึงความต้องการของชาวชุมชนแล้ว พวกเราเห็นตรงกันว่าเรื่องที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับดับแรกคือ การสร้างสาธารณูปโภค เช่น ท่อส่งน้ำหรือไฟฟ้า” นายสุเทพ เรืองชัยเสรีพงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลเก้าเลี้ยวกล่าว

เส่ง และสมจิตร ทัพชัย รู้สึกยินดีต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อก่อน สามีภรรยาคู่นี้ต้องออกไปทุ่งเมื่อต้องการเข้าห้องน้ำ และต้องกักเก็บน้ำไว้ในโอ่งใบใหญ่ ซึ่งจะมีรถบรรทุกน้ำจากอำเภอมาเติมให้เดือนละครั้ง  เส่งในวัย 78 ปี เพิ่งจะมีน้ำประปาต่อถึงบ้านเป็นครั้งแรกในชีวิต

เส่งเล่าให้ฟังว่า “โอ่งหนึ่งใบสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ประมาณ 2-3 เดือน เราเก็บน้ำฝนไว้ใช้เพื่อดื่มกิน” แต่ตอนนี้น้ำสะอาดต่อถึงบ้านและเราไม่ต้องรอรถขนน้ำอีกต่อไป”

จากความช่วยเหลือด้านการเงินและจากแรงกายที่ชาวชุมชนได้ร่วมกันลงมือลงแรงช่วยส่งผลให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี้สามารถฟื้นตัวพร้อมตั้งรับภัยพิบัติได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว  เหนืออื่นใด คือ ความภาคภูมิใจของชาวชุมชนที่ได้แสดงให้เห็นว่าชุมชนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจและความอุตสาหะของพวกเขาทุกคน


Api
Api

Welcome