เรื่องเด่น

จังหวัดชายแดนภาคใต้: เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งในพื้นที่ขัดแย้ง

วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556



ประเด็นสำคัญ
  • ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 5,000 คน นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
  • โครงการส่งเสริมอาชีพ ดังเช่น การทำกรงนก ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
  • โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยจากธนาคารโลกได้มีส่วนช่วยทั้งรัฐบาลและชุมชนต่างๆ ในการพัฒนาแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

ย้อนไปเพียงสามที่ปีแล้ว บ้านกือเม็ง เป็นเพียงหมู่บ้านชนบท ในจังหวัดยะลา ทางภาคใต้ แต่ในปัจจุบันเมืองนี้มีชื่อเสียงจากการที่เป็นแหล่งช่างทำกรงนกที่มีฝีมือดีที่สุดของประเทศ

การทำกรงนก ถือเป็นงานฝีมือขึ้นชื่อของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตามธรรมเนียมแล้ว คนรุ่นพ่อจะถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้สู่รุ่นลูก แต่ในคนรุ่นใหม่มักไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่ที่น่าประทับใจคือ ช่างทำกรงนกในบ้านกือเม็งนี้ เกือบทั้งหมดเป็นเยาวชน

รุสลัน มีเระห์ อายุ 20 ปี ซึ่งรับจ้างทำงานในสวนยางพารา ก็เป็นช่างทำกรงนกคนหนึ่ง โดยปกติแล้วเวลาทำงานในสวนยางจะอยู่ในช่วงเช้ามืดระหว่างเวลาตีสามถึงตีห้า หลังจากนั้นเขาก็จะว่างเกือบทั้งวัน เยาวชนบางคนเมื่อมีเวลาว่างมากก็มักตกเป็นเหยื่อยาเสพติด และร่วมลักเล็กขโมยน้อย แม้กระทั่งเข้าร่วมก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000 คน ตั้งแต่ปี 2547

“ผมสนใจจะเริ่มทำกรงนกบ้างเพราะเห็นเพื่อนผมกำลังหัดทำอยู่” รุสลันเล่า “เราก็พอใจที่ได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ได้เห็นกรงนกของเราเป็นรูปร่างหลังจากที่ทำมาทั้งเดือน แล้วแถมยังมีคนมาชื่นชม และก็ซื้อมันไป”

กลุ่มช่างทำกรงนกนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นเยาวชนชายผู้ด้อยโอกาส จึงมีรายได้เสริมจากการขายกรงนก กรงนกที่สั่งทำแต่ละกรงมีราคา 2,000-3,000 บาท หรือประมาณ 60-130 เหรียญสหรัฐฯ

การทำกรงนกนี้เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ธนาคารโลกได้สนับสนุนภายใต้โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งได้ช่วยขยายการอบรม และจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม อีกทั้งยังได้มีการส่งช่างทำกรงนกไปฝึกสอนเยาวชนที่สนใจในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

“กิจกรรมทำกรงนกส่งผลให้สมาชิกของชุมชนมีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน บรรดาพ่อแม่ต่างสนับสนุนให้เยาวชนชายเหล่านนี้ได้เรียนรู้ฝึกฝน และขณะนี้พวกเขาก็สามารถแบ่งปันความรู้และทักษะกับผู้อื่น และเข้าร่วมรับการอบรมในระดับอำเภอ สิ่งนี้ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในชุมชนเป็นอย่างมาก” นางสาวรูฮานา สุดานิง ผู้ประสานงานจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) กล่าว สทพ. เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งดำเนินการโครงการนี้

โครงการนี้ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสายใยความสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง โรงฝึกทำกรงนกก็ได้กลายเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนชายเหล่านี้อีกด้วย เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น พ่อแม่ต่างพากันออกตามหาลูกหลาน และเมื่อได้พบพวกเขาอยู่ที่นี่ ทุกคนต่างก็โล่งใจ

“ผมต้องขอขอบคุณ สทพ. และธนาคารโลกที่ได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพนี้ที่ทำให้คนได้มีงานทำ ผมเองก็มาจากพื้นที่นี้และต้องการให้ชุมชนของเราประสบความสำเร็จ” นายจิรศักดิ์ เล็งฮะ นายก อบต. เกาะสะท้อน กล่าว


" กิจกรรมทำกรงนกส่งผลให้สมาชิกของชุมชนมีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน บรรดาพ่อแม่ต่างสนับสนุนให้เยาวชนชายเหล่านนี้ได้เรียนรู้ฝึกฝน และขณะนี้พวกเขาก็สามารถแบ่งปันความรู้และทักษะกับผู้อื่น และเข้าร่วมรับการอบรมในระดับอำเภอ สิ่งนี้ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในชุมชนเป็นอย่างมาก "

รูฮานา สุดานิง

ผู้ประสานงานจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งภายในประเทศที่มีความเรื้อรังและคร่าชีวิตไปมากที่สุดปัญหาหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมาหลายปี ความไม่สงบก็อุบัติขึ้นอีกในปี 2547 หลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามหาทางเจรจาสันติภาพกับผู้นำกระบวนการแบ่งแยกดินแดน  ในขณะที่กำลังดำเนินการมาตรการเหล่านี้ ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ในพื้นที่ และความรุนแรงก็อยู่ในระดับสูง

โครงการนี้ได้เกื้อหนุนให้รัฐบาลไทยและชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาแนวทางการทำงานพัฒนาในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ งานเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งยังรวมถึงความร่วมมือระหว่างชุมชนกับองค์กรท้องถิ่นของรัฐอีกด้วย นอกจากนี้โครงการยังได้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินกิจกรรมในการสร้างสันติภาพ

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุน State and Peace-building Fund (SPF) ทั้งนี้คณะกรรมการ SPF ยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อกรกฎาคม 2556 นี้  เสริมกับงบประมาณอีกจำนวน 490,000 เหรียญ จาก Korea Trust Fund for Economic and Peacebuilding Transitions  ให้กับทาง สทพ. เพื่อขยายฐานกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้



Api
Api

Welcome