24 มีนาคม พ.ศ. 2552 – ทุกวันนี้ สถานการณ์ด้านแรงงานในเมืองคัลฟ่า สาธารณรัฐมอลโดวาไม่ค่อยจะสดใสสักเท่าไหร่ มองไปทางไหนก็มีแต่คนว่างงานเต็มไปหมด ส่วนคนที่มีงานทำนั้นก็ใช่ว่าจะได้ค่าจ้างเป็นกอบเป็นกำแต่อย่างใด เงินบำนาญที่รัฐจ่ายในแต่ละเดือนนั้นเล่าก็ช่างน้อยเสียเหลือเกิน แค่ 10 กว่าเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 350 บาท) เท่านั้น นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมรายได้ส่งกลับของแรงงานมอลโดวาที่ไปทำงานในต่างประเทศนั้น (ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นที่ประเทศรัสเซียหรืออิตาลี) จึงเป็นที่พึ่งพิงหลักของครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง
นางลุดมิล่า เชกลิช นายกเทศมนตรีหญิงของเมืองคัลฟ่า กล่าวถึงความสำคัญของรายได้ส่งกลับจากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศว่า “ ถ้าแรงงานของเราในต่างประเทศต้องตกงานกลับคืนถิ่นเมื่อไหร่แล้วล่ะก็ มาตรฐานความเป็นอยู่ของพวกเราทั้งหมดจะร่วงหล่นมาอยู่ในระดับยาจกเลยทีเดียว”
มอลโดวาหาใช่ประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวในโลกไม่ที่ต้องพึ่งพิงรายได้ส่งกลับจากแรงงานนับล้านชีวิตที่ไปทำงานในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แรงงานเหล่านี้ก็กำลังประสบกับความยากลำบา่กมากขึ้น อันเป็นสาเหตุมาจากการที่พวกเขาจำนวนมากต้องตกงานในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังถลำลึกเข้าไปสู่ห้วงวิกฤติ นอกจากนี้ พวกเขายังต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากประชากรเจ้าของประเทศ รวมทั้งมีโอกาสสูงที่จะถูกทำร้ายจากพลเมืองเจ้าของประเทศที่รู้ึสึกว่าเขาเหล่านี้มาแย่งงานจากคนในท้องถิ่นไปอีกด้วย
นักวิจัยของธนาคารโลกทำนายว่า รายได้ส่งกลับของแรงงานจะลดลงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ คือจากที่ 305,000 ล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2551 มาอยู่ที่ 290,000 ล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2552 หรือต่ำลงร้อยละ 5 ถึง ร้อยละ 8
แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ธนาคารโลกก็ยังเชื่อว่า ปริมาณรายได้ส่งกลับตลอดทั้งปีจะยังสูงกว่าปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะลดลงเหลือแค่ครึ่งหนึ่งของยอดจากปีที่แล้ว รวมทั้งมากกว่าจำนวนเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะมีประมาณหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย
รายได้ส่งกลับยังสูงอยู่เพราะแรงงานในต่างประเทศมีล้นหลาม
นายดิลิป ราธา หัวหน้านักวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นและรายได้ส่งกลับของธนาคารโลก ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า สาเหตุที่รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศนั้นยังครองตัวอยู่ได้ในระดับดีแม้ในภาวะวิกฤติเช่นทุกวันนี้ก็เพราะว่า แรงงานอพยพทั่วโลกนั้นมีจำนวนล้นหลาม และเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่และรายได้ที่ประเทศปลายทางนั้น แม้จะไม่่ดีนักเมื่อเทียบกับแรงงานท้องถิ่น แต่โดยมากแล้วก็ยังดีกว่าประเทศที่เขาจากมาพอสมควร ทำให้เขาเหล่านี้มักจะปักหลักอยู่ในประเทศปลายทาง แม้จะไำด้รับผลกระทบในระยะสั้นบ้างก็ตามจากวิกฤติเศรษฐกิจ และยังคงส่งเงินกลับบ้านอย่างสม่ำเสมอ แม้จำนวนเงินที่ส่งกลับนั้นอาจน้อยลงบ้างตามสภาวะการณ์
นายราธากล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีรายงานตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ มากมายว่าแรงงานอพยพกำลังหลั่งไหลกันกลับบ้านเพราะปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีแรงงานอพยพรุ่นใหม่ ๆ ที่เดินทางไปยังต่างประเทศ เพียงแต่พวกเขาไปกันในจำนวนที่น้อยลงกว่าที่เคยเป็นเท่านั้น และพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ปริมาณเงินส่งกลับบ้านทั่วโลกยังคงที่อยู่
ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยอิสระของอังกฤษที่ชื่่อ Centre for Cities ซึ่งทำการศึกษาวิจัยนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกับคำกล่าวนี้ โดยรายงานฉบับหนึ่งที่ทางศูนย์ได้นำออกเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ระบุว่า แรงงานอพยพที่มาจากยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่นั้นจะยังคงปักหลักอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป แม้ว่าอัตราการว่างงานที่นั่นจะสูงขึ้นในทุกขณะ
ส่วนนายราธาเองก็ยังได้ยินมาเช่นกันว่า แรงงานอพยพในรัสเซียที่มาจากทาจิกิสถานส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากจะย้ายไปไหน แม้ว่าชีวิตของพวกเขาจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อมากขึ้นทุกวัน อันเห็นได้จา่กแนวโน้มการลอบหรือรุมทำร้ายแรงงานอพยพที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีฆ่าตัดหัวคนงานหนุ่มชาวทาจิกใกล้กับเมืองมอสโคว์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“ถึงแม้จะมีเรื่องราวสะเทือนขวัญมากมายเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานอพยพในรัสเซีย ที่แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านจงเกลียดจงชังแรงงานเหล่านี้ในหมู่คนท้องถิ่น โดยเฉพาะต่อแรงงานที่มาจากทาจิกิสถานนั้นมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่แรงงานเหล่านี้ก็ไม่คิดที่จะย้ายไปไหน แต่ยังคงปักหลักอยู่ที่รัสเซียต่อไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ในทาจิกิสถานเองก็ยังเลวร้ายกว่าในรัสเซียเสียอีก” นายราธากล่าวเสริม
รายได้ของแรงงานลดลง
คณะนักวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นและรายได้ส่งกลับของธนาคารโลกคาดว่า สัดส่วนของรายได้ส่งกลับต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศประเทศกำลังพัฒนาในปี 2552 นี้ จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งถือว่าลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในพ.ศ. 2551
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของธนาคารโลกเรื่องนโยบายที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นและรายได้ส่งกลับก็ระบุอีกว่า เมื่อพิจารณาว่ารายได้ส่งกลับของแรงงานอพยพที่สามารถบันทึกได้ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น มีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 มาโดยตลอด การที่รายได้ส่งกลับต้องลดลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวของแรงงานอพยพในประเทศยากจน ที่ยังต้องพึ่งพิงเงินรายได้ประเภทนี้อยู่
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของธนาคารโลกก็ยังชี้อีกว่า ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจยังแผ่ขยายไปทั่วโลกเช่นนี้ รายได้ของแรงงานอพยพในรัสเซีย อัฟริกาใต้ มาเลเซีย และอินเดียนั้นนั้นนับว่าอยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตัวเลขการโอนเงินกลับในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 นั้นได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ส่งกลับโดยรวมนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ที่คาดว่าจะลดลงมากที่สุดก็คือรายได้ส่งกลับของแรงงานอพยพในยุโรปและเอเชียกลาง โดยประเทศที่จะเห็นสัดส่วนของรายได้ส่งกลับต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของตนลดลงอย่างมากกว่าประเทศอื่น ๆ นั้นก็น่าจะเป็นทาจิกิสถาน มอลโดวา และคีร์กิซสถาน ซึ่งแต่ละประเทศนั้นมีแรงงานอพยพจำนวนมากมายไปตั้งรกรากอยู่ในรัสเซีย
สาเหตุหนึ่งที่รายได้ส่งกลับต้องลดลงอย่างฮวบฮาบนั้นก็เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า การปรับลดค่าจ้างแรงงานต่างชาติในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้น จะเป็นไปในอัตราที่สูงกว่าการปรับลดค่าจ้างแรงงานของคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ในการประเมินความเปลี่ยนแปลงของรายได้ส่งกลับในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้น ธนาคารโลกได้ใช้สมมุติฐานว่า ไม่ว่าค่าแรงคนในท้องถิ่นจะถูกปรับลดลงไปเท่าไหร่ ค่าจ้างของแรงงานต่างชาติในพื้นที่เดียวกันนั้นก็จะลดลงไปอีกร้อยละ 5 หรือสูงกว่าหากเป็นค่าจ้างของแรงงานที่อยู่ในรัสเซีัย มาเลเซีัย และในกลุ่มประเทศรอบ ๆ อ่าวเปอร์เซีัย
ตัวเลขทางการไม่อาจบ่งชี้ภาวะการณ์ที่แท้จริง
นายราธากล่าวโดยอ้างถึงสถิติล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ว่า ปัจจุบันนี้ การจ้างแรงงานที่มิได้มีสัญชาติอเมริกันในภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก ส่วนในภาคบริการ (โรงแรมและร้านอาหาร) นั้นกลับปรากฎว่ามีการจ้างงานแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานต่างชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัดก็คือภาคก่อสร้าง ทั้งนี้ ยังเป็นการลดลงในอัตราที่สูงกว่าการลดลงของการจ้างแรงงานอเมริกันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นายราธาเห็นว่า สถิติของทางราชการนั้นไม่น่าจะบ่งบอกถึงภาวะการณ์ที่แท้จริงสักเท่าไหร่ “แรงงานอพยพนั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่า ค่าจ้างก็ถูกกว่า (แรงงานอเมริกัน) แล้วก็ทำงานโดยไม่เกี่ยงสภาพ พวกเขาไม่ค่อยจะเรียกร้องอะไรจากนายจ้างเท่าไำหร่ ผมคิดว่ามีคนงานจำนวนมากที่ยอมออกจากระบบบัญชีของบริษัท (และสูญเสียสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย) เพียงเพื่อให้ตัวเองยังมีงานทำอยู่”
"ผมสันนิษฐานว่ามีคนงานก่อสร้างเป็นจำนวนมาก คนงานที่อยู่นอกสารระบบ และคนงานที่มีทักษะน้อย ที่ไม่มีเอกสารยืนยันสถานภาพของตนเอง แต่ยังอยู่ในประเทศ คนพวกนี้จะเป็นที่ต้องการของนายจ้าง (มากกว่าแรงงานอเมริกัน) เพราะการที่พวกเขาไม่ต้องเสียภาษีนั้นก็ทำให้ค่าแรงของเขาถูกลงพอสมควร” นายราธากล่าว
เจาะขุมทรัพย์เงินส่งกลับ
พร้อมกันนี้ นายราธาเิองก็ได้เีัรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ หาวิธีนำรายได้ที่เกิดจากแรงงานโพ้นทะเลของตนเองนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือการออกพันธบัตรสำหรับแรงงานโพ้นทะเล หรือ Diaspora bonds ดังเช่นในทวีปอัฟริกา ซึ่งช่วยให้ประเทศที่ยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอยู่นั้น ได้มีแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับนำมาใช้พัฒนาประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ การลดต้นทุนที่แรงงานอพยพทั้งหลายจะต้องแบกทุกครั้งที่มีการโอนเงินกลับบ้าน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารโลกเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านการย้ายถิ่นผ่านฐานข้อมูลรายได้ส่งกลับนั้นก็ทำให้พบว่า ต้นทุนของการโอนเงินข้ามประเทศผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายในปัจจุบันนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ส่งกลับ และอาจสูงถึงร้อยละ 25 หรือ 30 เสียด้วยซ้ำในบางพื้นที่ ดังนั้นการช่วยให้ต้นทุนค่าโอนเงินของพวกเขาลดลงก็เท่ากับเป็นการช่วยให้เขามีเงินส่งกลับบ้านมากขึ้นไปโดยปริยาย นายราธากล่าว
“ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ประเทศต่าง ๆ ยิ่งมีความต้องการทรัพยากรมากขึ้นกว่าเดิม และเงินส่งกลับนั้นก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดียิ่งทางเลือกหนึ่ง เพราะรายได้ประเภทนี้มักจะถึงมือผู้รับโดยตรง ทำให้ผู้รับสามารถนำไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของครอบครัวได้มากที่สุด ”