ผลการศึกษา
ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาและขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และลดช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาระหว่างเด็กจากกลุ่มเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องในการขยายจำนวนโรงเรียนและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
- เด็กไทยทุกคนได้รับสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 12 ปี และขั้นอนุบาลอีกเป็นเวลา 3 ปี
- อัตราการเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 31 ในปีพ.ศ. 2533 เป็นร้อยละ 78 ในปีพ.ศ. 2554
- จำนวนเด็กหญิงเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 82 ซึ่งมากกว่าเด็กผู้ชายถึงร้อยละ 8
อย่างไรก็ดี การมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของการศึกษาอย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนเพื่อหางานที่ดีในอนาคต
- 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี “รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้” หรืออ่านหนังสือไม่แตกฉานจนต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่เพิ่งอ่านไป
- เด็กนักเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีปัญหาเรื่องนี้อย่างรุนแรง โดยนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนร้อยละ 47 รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้จริง
- นักเรียนอายุ 15 ปีในเวียดนามมีความสามารถสูงมากกว่านักเรียนไทยที่อายุเท่ากันเทียบเท่า 1.5 ปีการศึกษาโดยเฉลี่ย
โรงเรียนขนาดเล็กต่างเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โรงเรียนเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง แต่คุณภาพการเรียนการสอนกลับยังไม่ดีเท่าที่ควร
- จำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาลดลงจาก 7,450,000 คนในปีพ.ศ. 2525 เหลือเพียง 5,000,000 คนในปีพ.ศ. 2555 เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง
- จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 20 คนต่อชั้นเรียนเพิ่มขึ้นจาก 15,000 แห่งในปีพ.ศ. 2536 เป็น 19,800 แห่งในปีพ.ศ. 2553
- โรงเรียนขนาดเล็กนี้มีข้อจำกัดเรื่องการขาดแคลนครู อุปกรณ์การสอน และอาคารสถานที่อย่างมาก
แนวทางในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน
- ลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งค่าใช่จ่ายสูงและคุณภาพการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน โดยการจัดรูปแบบเครือข่ายโรงเรียนใหม่ โรงเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีทรัพยากรเพื่อการศึกษาอย่างเพียงพอ
- เพิ่มงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงต้องมีอยู่ในพื้นที่ๆ ห่างไกล
- ฝึกอบรมและเพิ่มแรงจูงใจในการดึงดูดครูที่มีคุณภาพให้มาสอนที่โรงเรียนในเครือข่าย หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
- เพิ่มอำนาจการบริหารจัดการบุคลากรแก่โรงเรียน เนื่องจากครูใหญ่เป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าโรงเรียนต้องการบุคลากรประเภทใด
- เพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินผลงานของครูและโรงเรียนโดยวัดจากผลการเรียนของนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถของนักเรียนในที่สุด