ดาวน์โหลดรายงาน
ดาวน์โหลดภาพรวม
ข้อค้นพบที่สำคัญ
โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG) Model) ของประเทศไทยซึ่งเปิดตัวในปี 2564 ได้วางรากฐานให้แก่ประเทศไทยในการก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ด้วยภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแนวทางที่มุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น โมเดล BCG+ ที่ธนาคารโลกนำเสนอในรายงานนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้าง เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยโดยใช้การสร้างแบบจําลองขั้นสูงเพื่อคาดการณ์และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาคเกษตรกรรมและการประมงของไทย
- ภาคเกษตรกรรมและการประมงของประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ โดยภาคอุตสาหกรรมการประมงและการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศที่มีขนาดใหญ่มีความเปราะบางที่เพิ่มสูงขึ้น
- ภาคเกษตรกรรมอาจสูญเสียผลผลิตมูลค่า 2,900 ล้าน - 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ภาคการประมงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียผลผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 26,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ความเครียดจากความร้อนจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในภาคการประมงอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าสภาพภูมิอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม ความเปราะบางนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากพึ่งพาภาคส่วนเหล่านี้ในการดำรงชีวิต
ต้นทุนและการสูญเสียผลิตภาพในภาคแรงงานของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นภายในปี 2593
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ผลิตภาพในภาคแรงงานที่ทำงานนอกอาคารลดลง เช่น ภาคเกษตรกรรมและการก่อสร้าง โดยมีความเป็นไปได้ที่การสูญเสียผลิตภาพอาจเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2593
- ผลิตภาพของแรงงานที่ทำงานในอาคาร จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากมีการใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบทำความเย็นอาจสูงถึง 11,000 -17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2593
การต่อสู้กับทรัพยากรที่ลดลงเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Economic resilience)
- การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทำให้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
- พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงร้อยละ 12 นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความสูญเสียทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจอย่างมาก
- หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ประเทศไทยอาจสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูงถึง 553,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2593
- นโยบายเชิงกลยุทธ์สามารถลดการสูญเสียเหล่านี้ได้ถึงร้อยละ 68 นอกจากนี้การฟื้นฟูป่าไม้และการปลูกป่าใหม่สามารถเพิ่มความมั่งคั่งสะสมได้ถึง 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
น้ำทะเลสูงขึ้น, กำไรลดลง: ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมีผลต่ออนาคตของประเทศไทย
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2573 อาจทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 4 จุดร้อยละ นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่าการสูญเสียพื้นที่ทั้งหมดจากการกัดเซาะชายฝั่งจะอยู่ที่ 2 ตารางกิโลเมตรต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเท่ากับร้อยละ 0.04 ของ GDP โดยเฉพาะเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายฝั่งจะมีความเสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่งเป็นพิเศษ
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาหนึ่ง
คำแนะนำ
การจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้จะต้องอาศัยกลยุทธ์ในการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุม รวมถึงการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน
- การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง: เส้นทางในการต่อสู้กับภัยน้ำท่วมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการวางแผนและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม โดยดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ปรับปรุงการเข้าถึงบริการที่จำเป็นสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบังคับใช้กฎระเบียบการใช้ที่ดิน นอกจากนี้ มาตรการต่าง ๆ เช่น การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนและระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวสามารถลดความเสียหายจากน้ำท่วมและความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อ GDP ของประเทศจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2573 ได้ถึง 4 จุดร้อยละ ค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับตัวโดยรวมนี้อาจสูงถึงร้อยละ 1.6 ของ GDP
- สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน: เส้นทางของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการลดรอยเท้าคาร์บอนและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองและการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ นโยบายที่ครอบคลุม การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสะอาด นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนมีความสำคัญ การกำหนดราคาคาร์บอนและการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่เข้มแข็ง ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและอุตสาหกรรม และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน
- การนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ การเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบนี้จะช่วยลดการใช้พลาสติก ส่งเสริมการรีไซเคิล และลดขยะ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2573 อาจทำให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และสร้างงานมากถึง 160,000 ตำแหน่ง