ประเด็นสำคัญ
เศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวลงเมื่อปี 2562 โดย GDP ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เนื่องจากปัจจัยจากภายในและภายนอกประเทศ
- เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอการเติบโตลงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อปี 2562 และจะฟื้นตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2563 แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะจากปัจจัยเรื่องการค้าโลก
- เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวระดับปานกลางที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกจากการที่ความต้องการสินค้าส่งออกที่น่าจะดีขึ้นเล็กน้อย การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐอย่างจริงจังมากขึ้นในปีนี้
- เศรษฐกิจไทยในอนาคตมีแนวโน้มจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยภายนอกมาจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความเสี่ยงระยะสั้นจากปัจจัยภายในประเทศคือความสมานฉันท์ของรัฐบาลร่วมหลายพรรคการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากมองปัจจัยด้านบวก ภาคการส่งออกของไทยอาจได้รับประโยชน์จากความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการค้าที่บรรเทาลง
- การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐและโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ที่สำคัญสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และลดความอ่อนไหวในกลุ่มนักลงทุนได้ในระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐบริหารจัดการลงทุนโครงการเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย
- การที่ภาครัฐกำลังริเริ่มดำเนินการเพื่อคุ้มครองครัวเรือนที่เปราะบางนั้น ภาครัฐควรพิจารณาวิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อการคุ้มครองทางสังคมที่ตรงเป้าหมายดียิ่งขึ้น
รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับนี้ได้วิเคราะห์เชิงลึกถึงการพัฒนาการเติบโตด้านผลิตภาพของประเทศไทย และอภิปรายถึงนโยบายที่จะกระตุ้นผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
- ในช่วงปี 2523-2829 เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพที่ดีในทุกภาคส่วน เป็นผลมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่มีผลิตภาพสูง
- อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านการเติบโตด้านผลิตภาพนี้หยุดลงหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ผลิตภาพของประเทศไทยในปัจจุบันขับเคลื่อนจากภายในภาคส่วนเดียวกันมากกว่าจากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคส่วน
- จากการวิเคราะห์ตัวขับเคลื่อนและข้อจำกัดด้านผลิตภาพของอุตสาหกรรมการผลิตโดยใช้ข้อมูลระดับบริษัทแสดงให้เห็นถึงข้อค้นพบเชิงประจักษ์ ดังนี้ (1) ผลิตภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเติบโตสูงกว่ากลุ่มอื่น (2) บริษัทที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) จะมีผลิตภาพสูงกว่า (3) บริษัทที่มีผลิตภาพจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการขยายกิจการเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบในการขยายกิจการ และ (4) บริษัทที่มีแรงงานมีทักษะและลงทุนใน R&D จะมีผลิตภาพและนวัตกรรมสูงกว่า
- ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของผลิตภาพที่เกิดจากการเลิกกิจการของบริษัทที่ไม่มีผลิตภาพและการเข้ามาใหม่ของบริษัทที่มีผลิตภาพอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการขายในประเทศ กฎระเบียบข้อบังคับของไทย เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 หรือ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าไม่ส่งเสริมให้บริษัทใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดภายในประเทศหรือตลาดเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจ
· ข้อเสนอด้านนโยบายเพื่อกระตุ้นผลิตภาพในประเทศไทยควรให้ความสำคัญในประเด็น (1) การเพิ่มการเปิดเสรีด้านการลงทุน (2) การเพิ่มการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ และ (3) การส่งเสริมระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็งสำหรับการสร้างนวัตกรรมของบริษัท