เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.5 ในปี 2558
- ในปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.9 จากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศเนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี และการส่งออกที่ลดลงท่ามกลางอุปสงค์ที่ลดลงในจีนและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ในปีนี้คาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง การท่องเที่ยวที่สูงขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แม้ว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะยังคงขยายตัวอย่างช้าๆ ในปีนี้
อัตราการขยายตัวการส่งออกของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและตามหลังหลายๆประเทศในอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
- อัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2549–2554 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 ก่อนที่จะชะลอตัวลงจนต่ำกว่าร้อยละ 1 ในช่วงปี 2555-2557
- การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนไทย
การเพิ่มคุณภาพการศึกษาสำหรับทุกคนจะช่วยเพิ่มทักษะและผลิตภาพของกำลังแรงงาน และเป็นกุญแจไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย
- ประเทศไทยก้าวหน้าไปมากในการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามการให้การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกๆ คนจะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีทักษะของไทย
- กว่า 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี จัดว่า “มีความสามารถในการอ่านเพียงระดับพื้นฐาน” เด็กเหล่านี้ขาดทักษะที่จำเป็นในการบริหารจัดการชีวิตประจำวันและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการอ่านสูงกว่าระดับพื้นฐานทั่วไป
- ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็กตามหมู่บ้าน ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนครู และมีครูน้อยกว่า 1 คนต่อห้องเรียน
- โรงเรียนขนาดเล็กตามหมู่บ้านยังประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก ทำให้ไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ เนื่องจาก ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน อาคารสถานที่ และครูที่มีประสบการณ์
- การจัดโครงสร้างระบบเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มีครูที่ดี และช่วยให้ห้องเรียนทุกห้องมีการสอนที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนทุกๆ คนมีการศึกษาที่ดีขึ้น และลดความแตกต่างของผลการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท