ดาวน์โหลดรายงาน
ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหาร ภาษาไทย
ประเด็นสำคัญ
ส่วนที่ 1. พัฒนาการล่าสุดและแนวโน้มเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง คาดว่าอัตราการเติบโตจะเร่งขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567
- การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม
- คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน จาก 35.3 ล้านคนในปี 2567
- การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตขึ้น 0.3 จุดร้อยละในปี 2567 อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีต้นทุนทางการคลังสูงถึง 145,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP
- คาดว่าอัตราความยากจนจะลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2568 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและโครงการโอนเงิน นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจคาดว่าจะลดลงประมาณ 1.5 จุดตามดัชนีจินี
- คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ที่ 0.8% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย
- การส่งออกสินค้าคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตามก็ตาม
- เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างตรงเป้าหมาย เพิ่มการระดมรายได้จากภาษี และเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชน
- ท่าทีทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างระมัดระวังถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
- การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการในการเป็นประเทศรายได้สูง
ส่วนที่ 2. นวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ทอัพ
- ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเพิ่มผลิตภาพของภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับรายได้และมาตรฐานการครองชีพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- ประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการหากไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้ โดยอาจเสี่ยงต่อการล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องนำแนวทางการผลิตที่ยั่งยืนมาใช้ มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกตัดออกจากห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก นอกจากนี้ ความท้าทายเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การดูแลสุขภาพ และระบบโลจิสติกส์ จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม
- SMEs ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคิดเป็น 99.5% ของบริษัททั้งหมดในประเทศ 69.5% ของการจ้างงาน และ 35.3% ของ GDP อย่างไรก็ตาม การขาดนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมที่จำกัดในห่วงโซ่มูลค่าโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ SMEs ที่ยังไม่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
- SMEs และผู้ประกอบการในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายหลัก 4 ประการ ได้แก่
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด
- การขาดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะเริ่มต้น เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจ(Incubator) และโครงการเร่งการเติบโตของธุรกิจ (Accelerator)
- ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ไม่เพียงพอ
- อุปสรรคด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม การค้า และการลงทุน
- ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงจำนวนผู้ประกอบการที่ค่อนข้างน้อยในการพยายามบุกเบิกตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในภาคดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรม
- ประเทศไทยมีประวัติในการเอาชนะความท้าทายต่างๆ และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนนวัตกรรม การจัดการกับอุปสรรคด้านการวิจัยและพัฒนา การจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะ ตลอดจนการเสริมสร้างการแข่งขันและการเข้าถึงตลาด จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค ความร่วมมือที่ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาคส่วนต่างๆ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายด้านนวัตกรรมมีความสอดคล้องและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ