Skip to Main Navigation
publicationวันที่ 29 พฤษภาคม 2566

การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย: การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน

The World Bank

ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐ (Public Spending and Revenue Assessment: PRSA) เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการกำหนดแนวทางจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจให้มีความทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งจะต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ พัฒนาประสิทธิภาพการใช้จ่ายสาธารณะ และกำหนดนโยบายและมาตรการจัดเก็บรายได้และใช้จ่ายภาครัฐที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยในภาพรวม รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐในด้านสาธารณสุข การศึกษา และมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่าง ๆ รวมถึงการประเมินนโยบายการคลังเชิงลึกซึ่งสามารถส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ภาพรวมของรายงาน

  • ประเทศไทยมีการใช้จ่ายภาครัฐและการใช้นโยบายการคลังในการรับมือผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 สูงมาก โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งไทยสามารถใช้จ่ายในระดับดังกล่าวได้เนื่องจากมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่ได้สะสมไว้ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด
  • การบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐและหนี้สาธารณะจะเป็นประเด็นสำคัญในช่วงต่อไป ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับจำกัดเนื่องจากหนี้สาธารณะส่วนมากอยู่ในสกุลเงินบาทและหนี้ส่วนใหญ่ถือครองโดยคนไทย ดังนั้น การรัดเข็มขัดทางการคลังจึงสามารถทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐในปัจจุบัน แต่ไทยก็ยังสามารถเพิ่มการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในด้านสำคัญอื่น ๆ ได้
  • อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้สร้างแรงกดดันทางการคลังในระยะยาว จากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุและสวัสดิการการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังเป็นข้อจำกัดในการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ ไทยยังคงมีอีกหลายด้านที่มีการใช้จ่ายภาครัฐไม่เพียงพอ เช่น มาตรการช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานฉบับนี้นำเสนอความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเพิ่มการใช้จ่ายในด้านเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ปราถนาด้วยงบประมาณที่คุ้มค่าที่สุด
  • อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ ข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่งของรายงานฉบับนี้ คือ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่รัฐบาลไทยจะสามารถใช้จ่ายในด้านสำคัญต่างๆ และยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังไว้ได้ โดยการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีขนานใหญ่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษีขึ้นได้ราวร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ซึ่งอาจจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ

บทที่ 1 การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางการคลัง

  • บทที่ 1 ของรายงานฉบับนี้พิจารณาชุดนโยบายและมาตรการภาครัฐในรายละเอียดเพื่อประเมินความความยั่งยืนทางการคลังในระยะกลางและระยะยาว โดยเริ่มจากการวิเคราะห์บริบทด้านเศรษฐกิจมหภาคและการคลัง วิวัฒนาการและคุณลักษณะของหนี้สาธารณะในประเทศไทย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจากการรับมือกับวิกฤตโควิด ซึ่งการวิเคราะห์จะพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐและหนี้สาธารณะในระยะกลาง รวมถึงกรณีเฉพาะที่ต้องอาศัยการดำเนินการที่มีความรอบคอบและให้ความสำคัญกับการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ฉากทัศน์ระยะยาวของการใช้จ่ายภาครัฐจะต้องพิจารณาถึงรายจ่ายจำเป็นของภาครัฐที่จะเกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตรการช่วยเหลือทางสังคม การพัฒนาทุนมนุษย์ การลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประเมินศักยภาพการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็นต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน

บทที่ 2 การเพิ่มการจัดเก็บรายได้

  • ด้วยระดับรายได้ประชาชาติของไทยในปัจจุบัน การจัดเก็บรายได้ภาครัฐของไทยถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยไทยมีช่องว่างทางภาษี (Tax gap) ในเชิงโครงสร้าง หรือความต่างของรายได้ที่ควรจะจัดเก็บได้และรายได้ที่จัดเก็บได้จริงสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บรายได้ประเทศอื่นที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกันอยู่ราวร้อยละ 5.6 ของ GDP ซึ่งการจัดเก็บรายได้ภาครัฐในปัจจุบันนี้ไม่เพียงพอที่จะรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและรักษาความยั่งยืนทางการคลังไปพร้อมกันได้ บทที่ 2 ของรายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ผลการดำเนินงานในปัจจุบันและศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ของไทยโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และเสนอแนะแนวทางปฏิรูปด้านนโยบายภาษีและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องโดยพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการรองรับรายจ่ายจำเป็นของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวดังที่กล่าวไว้ในบทที่ 1

 

The World Bank

บทที่ 3 แนวโน้มและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายภาครัฐ

  • การใช้จ่ายภาครัฐมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาวและมีเสถียรภาพทางการคลัง โดยเสถียรภาพทางการคลังระยะยาวนั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ 1 และการเติบโตนี้จะต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งการสะสมทุนมนุษย์และทุนทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเนื่องจากเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความยากจน และการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ องค์ประกอบและคุณภาพของการใช้จ่ายภาครัฐเป็นกุณแจสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิรูปนี้ โดยบทที่ 3 และบทต่อ ๆ ไปของรายงานฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบหลักของการใช้จ่ายภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการ

บทที่ 4 การปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุข

  • ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่ดีเยี่ยม เป็นผลมาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเน้นการให้บริการสาธารณสุขมูลฐาน อย่างไรก็ดี ภาระทางการคลังจากระบบสาธารณสุขมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลใหม่ๆ รวมถึงจำนวนผู้สูงอายุซึ่งจะต้องใช้บริการระบบสาธารณสุขมากขึ้น บทที่ 4 พิจารณาประสิทธิภาพ ความเพียงพอ และผลการดำเนินงานของการใช้จ่ายภาครัฐในด้านสาธารณสุข

บทที่ 5 การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน

  • ผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวของนักเรียนจะเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม โดยผลการประเมินในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ภายใต้ PISA ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และการประเมินทักษะการอ่านก็มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่มีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดแคลนทรัพยากร นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวของนักเรียนในระดับก่อนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน โดยบทที่ 5 นี้ จะพิจารณาประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยรายงานจะวิเคราะห์แนวทางการใช้จ่ายภาครัฐในระบบการศึกษาที่จะช่วยส่งเสริมผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทที่ 6 การปฏิรูปความคุ้มครองทางสังคม

  • บทที่ 6 วิเคราะห์ความเพียงพอและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐในด้านความคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทยโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลและประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน โดยรายงานจะถอดบทเรียนจากการใช้มาตรการให้เงินช่วยเหลือขนานใหญ่ของภาครัฐในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และมีข้อเสนอแนะในการปฏิรูปมาตรการช่วยเหลือทางสังคมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณในการลดระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และกลายเป็นภาระงบประมาณมากจนเกินไป

The World Bank

ดาวน์โหลด presentation เรื่องสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม 


บทที่ 7 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • บทที่ 7 พิจารณาเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคและการคลังที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอภิปรายถึงแนวทางการรับมือกับปัญหานี้ด้วยนโยบายการคลัง รายงานจะพิจารณายุทธศาสตร์ในการรับมือกับการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยมาตรการทางการคลัง รวมถึงประเมินผลกระทบต่อภาพรวมการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ทั้งนี้ รายงานจะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมความเพียงพอ ประสิทธิภาพ และความเท่าเทียมจากการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลในการรับมือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี รายละเอียดของประเด็นที่สำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ แต่จะมีงานวิจัยอื่นของธนาคารโลกมารองรับในอนาคต

บทที่ 8 ภาษี การให้เงินช่วยเหลือ และความเท่าเทียม

  • บทที่ 8 พิจารณาผลกระทบของนโยบายการคลังที่มีต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยนโยบายการคลังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยลดระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และสามารถใช้ในการลงทุนที่สำคัญสำหรับการให้บริการสาธารณะและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรายงานฉบับนี้ใช้วิธี Commitment to Equity (CEQ) ในการประเมินผลกระทบจากการกระจายสวัสดิการที่ได้จากการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ประมาณการผลกระทบของมาตรการทางการคลังที่มีต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และประเมินประสิทธิภาพของการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน โดยการวิเคราะห์จะช่วยให้ข้อมูลในการปฏิรูปนโยบายการคลังให้ส่งผลกระทบต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น