Skip to Main Navigation
publicationวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย กรกฎาคม 2567: ปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง

The World Bank

ดาวน์โหลดรายงาน
ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหาร [ภาษาอังกฤษ]
ดาวน์โหลดบทสรุปผู้บริหาร [ภาษาไทย]

ประเด็นสำคัญ

  • รายงานคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 2567 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2567
  • เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 2.8 ในปี 2568 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐหลังจากความล่าช้าในช่วงต้นปี
  • การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแต่การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้า ๆ   นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น   ในด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2568 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.7 ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานลดลง
  • หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 64.6 ในปี 2568 และการขาดดุลการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาเป็นปกติ  ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาล
  • ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังขณะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น  ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางความต้องการด้านการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือทางสังคมและการให้เงินช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้ภาษี ส่งเสริมความเสมอภาค สร้างช่องว่างทางการคลัง และกระตุ้นการลงทุนได้

รายงานยังนำเสนอหัวข้อพิเศษ "ปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง" ซึ่งเน้นย้ำว่า ในระยะยาว เมืองรองมีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศไทย กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก

  • การพัฒนาเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นไปที่กรุงเทพมหานคร ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ โดยกรุงเทพฯ ในฐานะกลุ่มเมือง (urban agglomeration) มีประชากรมากกว่าจังหวัดที่ใหญ่รองลงมาอย่างเชียงใหม่ถึง 29 เท่า และมี GDP มากกว่าจังหวัดที่มี GDP ในลำดับรองลงมาอย่างชลบุรีถึงเกือบ 40 เท่า\
  • กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับการมีโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการคมนาคมที่ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ากว่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ   ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ
  • แม้ว่าความเป็นเมืองหลักของกรุงเทพฯ จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแออัดและความเปราะบางของเมืองในด้านต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความจําเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเขตเมืองอย่างสมดุล   เหตุการณ์อุทกภัยปี 2554 ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางด้านเศรษฐกิจของไทยเนื่องจากการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ   นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ และเศรษฐกิจของประเทศมีความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งเน้นย้ำถึงความจําเป็นที่จะต้องมีฐานเศรษฐกิจที่กระจายตัวมากขึ้น
  • เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัว เนื่องจากการเติบโตของ GDP ของกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับการเติบโตของประชากร ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองได้เติบโตอย่างเต็มที่และถึงจุดอิ่มตัว เป็นเหตุให้ผลิตภาพอาจดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่เปลี่ยนแปลง
  • จากข้อมูลล่าสุด การเติบโตของ GDP ต่อหัวของเมืองรอง สูงกว่าของกรุงเทพฯ เกือบ 15 เท่า   ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของ GDP ต่อหัวนี้ แสดงให้เห็นถึงผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของเมืองรอง
  • เมืองรองมีบทบาทสําคัญในการพัฒนาภูมิภาค โดยทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการปกครองท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรม  สนับสนุนและเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภูมิภาคกับกรุงเทพฯ หรือเป็นระเบียงการค้าทางเศรษฐกิจที่สําคัญ  นอกจากนี้ ในฐานะศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เมืองรองสามารถบรรเทาความแออัดและตึงเครียดในกรุงเทพฯ โดยการเป็นทางเลือกสำหรับที่ตั้งในการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นได้ว่าเมืองเหล่านี้มีบทบาทสําคัญในการสร้างงานและการกระจายฐานเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมดุลมากขึ้นทั่วประเทศ
  • ความท้าทายหลักที่ทําให้เมืองรองไม่สามารถบรรลุศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนได้อย่างเต็มที่คือการพึ่งพารายได้จากส่วนกลางมากเกินไป  หากการปกครองท้องถิ่นมีอํานาจมากขึ้นในการวางผังเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าถึงกลไกทางการเงินระยะยาว ควบคู่ไปกับการมีเครื่องมือทางการคลังที่เหมาะสม เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  การเรียกเก็บภาษีเงินได้เพิ่มเติมที่ต้องชำระให้ส่วนท้องถิ่นจากฐานภาษีเงินได้ (income tax piggy backing) และค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เมืองเหล่านี้สามารถกําหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ