Skip to Main Navigation
publicationวันที่ 25 มีนาคม 2568

พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่

The World Bank

ดาวน์โหลดรายงาน

ข้อค้นพบสำคัญ

ภาวะความร้อนในเมืองที่รุนแรงกำลังกลายเป็นความท้าทายที่เร่งด่วนสำหรับกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเมือง ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island - UHI) ทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ที่มีการก่อสร้างหนาแน่นได้กลายเป็นแหล่งกักเก็บความร้อน อันก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียผลิตภาพแรงงาน ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และผลกระทบด้านลบอื่น ๆ

ความท้าทาย

การศึกษานี้มีเป้าหมายสร้างความเข้าใจผลกระทบปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง เริ่มจากการวิเคราะห์ระดับความร้อนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยพบความท้าทายหลายข้อ เช่น

  • วันที่มีอากาศร้อนจัดเพิ่มมากขึ้น ระหว่างปี 2503 - 2543 กรุงเทพฯ มีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสประมาณ 60 - 100 วันต่อปี การคาดการณ์ด้วยแบบจำลองภูมิอากาศในรายงานชี้ว่า ภายในปี 2643 กรุงเทพฯ อาจเผชิญกับวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นอีก 153 วันต่อปีในกรณีที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณปานกลาง
  • ความรุนแรงของเกาะความร้อนแตกต่างกันตามพื้นที่ บางเขต เช่น เขตปทุมวัน บางรัก ราชเทวี และพญาไท เป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบเฉลี่ยถึง 2.8 องศาเซลเซียสเนื่องจากมีอาคารสูงและพื้นผิวคอนกรีตหนาแน่นที่สะสมความร้อนและระบายออกช้า
  • เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับความร้อนมากขึ้น หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส กรุงเทพฯ อาจเผชิญกับการเสียชีวิตจากความร้อนกว่า 2,300 ราย โดยมีประชากรกลุ่มเปราะบางที่เผชิญความเสี่ยงสูง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ราว 880,000 คน และผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนสูงที่สุด
  • ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและผลิตภาพแรงงาน ในปี 2562 มีคนทำงานประมาณ 1.3 ล้านคนในกรุงเทพฯ ที่ทำงานกลางแจ้งอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสอาจทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลงประมาณ 3.4% นำไปสู่การสูญเสียค่าจ้างแรงงานมากกว่า 44,000 ล้านบาทต่อปี
  • ผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน หากอุณหภูมิในเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส อาจทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 17,000 ล้านบาทต่อปี ความร้อนที่รุนแรงยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ถนน ซึ่งต้องได้รับการซ่อมแซมบ่อยขึ้น ส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

การปฏิรูปเชิงยุทธศาสตร์

แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินมาตรการหลายด้าน เช่น แผนปฏิบัติการรับมือคลื่นความร้อน ระบบแจ้งเตือนระดับความร้อน และโครงการพื้นที่สีเขียว แต่ก็ยังมีโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติม ทั้งด้านการขยายขอบเขตมาตรการ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความร้อน และนโยบายระยะยาว โดยรายงานเสนอแนวทางภายใต้กรอบ "ประชาชน (กลุ่มเปราะบาง) พื้นที่ (จุดเสี่ยงสูง) และสถาบัน (หน่วยงานที่รับผิดชอบ)" ได้แก่

  • มาตรการระยะสั้น เช่น ระบบแจ้งเตือนความร้อนที่ครอบคลุมมากขึ้น หรือการจัดตั้ง cooling center และจุดบริการน้ำดื่มในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น อาจช่วยลดผลกระทบได้ทันที
  • นโยบายระยะยาว มีความสำคัญต่อการเพิ่มความพร้อมกรุงเทพฯ ในการรับมือกับความร้อนในเมือง ตัวอย่างเช่น การขยายโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและสีน้ำเงิน (Green and Blue Infrastructure) ตลอดจนการบูรณาการประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศเข้าสู่การวางแผนเมือง การแบ่งโซนที่ดิน การขนส่ง กฎหมาย ข้อบังคับอาคาร และระบบสาธารณสุข
  • การรับมือกับความร้อนในเมืองจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องในการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ผู้มีอำนาจตัดสินใจอาจพิจารณาจัดตั้ง "คณะทำงานพิเศษด้านความร้อนในเมือง" เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อนภารกิจ และพัฒนาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน เช่น กองทุนพัฒนาความสามารถในการรับมือความร้อน เพื่อให้โครงการลดความร้อนในเมืองสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร