Skip to Main Navigation
publication วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

การตามติดผลกระทบของโควิด-19 ในประเทศไทย

Image

ประเทศไทยคือประเทศที่สองที่มีรายงานเคสผู้ป่วยโควิด-19 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยสามารถควบคุมและตรึงให้ผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวนน้อยจนถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน เนื่องด้วยประกาศใช้มาตรการควบคุมได้อย่างทันท่วงที และกลยุทธ์ติดตามผู้สัมผัสที่มีประสิทธิภาพ ทว่าแม้มาตรการของรัฐบาลจะช่วยชะลอการระบาดของโรคในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ มาตรการเหล่านี้ก็ส่งผลให้ประชาชนหลายครอบครัวต้องออกจากงาน สูญเสียรายได้ ปิดกิจการ และปราศจากความมั่นคงทางอาหาร เด็กจำนวนมากมีการศึกษาที่ขาดตอนด้วยเช่นกัน ซ้ำร้าย การระบาดระลอกต่อมา รวมถึงเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวง เมื่อจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มเป็นวันละมากกว่า 2,000 เคสในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 และนำไปสู่มาตรการควบคุมใหม่ที่กวดขันยิ่งกว่าเดิม

เพื่อติดตามผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ธนาคารโลกได้ออกเงินทุนสนับสนุนแกลลัพโพล (Gallup Poll) ให้ดำเนินการสำรวจทางโทรศัพท์อย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี จำนวนประมาณ 2,000 คน ครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้ การจ้างงาน แหล่งที่มาของรายได้ครัวเรือน การเข้าถึงอาหารและความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองทางสังคมและกลไกการรับมือ การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงบริการสุขภาพและวัคซีนป้องกันโควิด-19

ข้อค้นพบสำคัญ

ประเด็นการจ้างงาน:

  • การจ้างงานระดับชาติมีอัตราคงที่อยู่ที่ร้อยละ 68 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2564 ทว่าอัตราดังกล่าวแตกต่างออกไปตามภูมิภาคและกลุ่มประชากร กล่าวคือ แถบพื้นที่เมืองและเมืองหลวงมีอัตราการจ้างงานลดลงร้อยละ 8 ในขณะที่แถบพื้นที่ชนบทและภาคเหนือมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เนื่องจากคนจำนวนมากที่ต้องออกจากงานเพราะสถานการณ์โรคระบาดหวนกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรในชนบท
  • โดยรวม ผู้ตอบการสำรวจกว่าร้อยละ 50 ได้รับผลกระทบด้านการงาน บางคนต้องออกจากงาน หยุดงานชั่วคราว ถูกลดชั่วโมงทำงานหรือได้รับค่าตอบแทนที่น้อยลง

ประเด็นรายได้:

  • ครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์กว่าร้อยละ 70 มีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ครัวเรือนในแถบพื้นที่ชนบท ภาคใต้ และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำประมาณร้อยละ 80 มีรายได้ลดลง
  • การทำเกษตรกรรมและประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตรกรรรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากรายได้ที่ลดลง ประมาณร้อยละ 50 มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง
  • ครัวเรือนในแถบพื้นที่ภาคใต้และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีรายได้ลดลงมากที่สุด

ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร

  • ครัวเรือนจำนวนมากรายงานว่าขาดแคลนอาหาร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ในหมู่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และครัวเรือนที่มีเด็ก
  • ครัวเรือนใช้กลไกรับมือหลายตัวในช่วงวิกฤต โดยกลไกที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือการลดปริมาณการบริโภคอาหารและสิ่งอื่นๆ การพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล การหันไปใช้เงินออม การหารายได้เสริมจากช่องทางอื่นประกอบ

ประเด็นความคุ้มครองทางสังคม:

  • ครัวเรือนกว่าร้อยละ 80 ได้ประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือในสภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลที่ริเริ่มในปี 2563 โดยคิดเป็นสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และผู้ที่มีรายได้ปรับลดลงอย่างรุนแรงประมาณร้อยละ 90
  • สัดส่วนผู้ขอรับประโยชน์จากสวัสดิการสังคมในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงเกือบสองเท่า

ประเด็นด้านการศึกษา:

  • ครัวเรือนประมาณร้อยละ 90 มีเด็กอายุ 6 ถึง 17 ปีที่เข้าศึกษาในภาคเรียนที่ผ่านมา
  • สัดส่วนนี้น้อยลงในหมู่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ (ร้อยละ 86) เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า (ร้อยละ 96)
  • เด็กกว่าครึ่งหนึ่งเข้าศึกษาในลักษณะผสม (ทั้งแบบพบกันในชั้นเรียนและเรียนทางไกล) และอัตราหนึ่งในสี่เข้าศึกษาแบบพบกันในชั้นเรียนเท่านั้น
  • ผู้ตอบการสำรวจประมาณร้อยละ 57 บ่งชี้ว่าเด็กในครัวเรือนประสบกับปัญหาด้านการเรียน เด็กในพื้นที่ชนบทและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มว่าจะมีอุปสรรคด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ในการเรียนสูงกว่า

ประเด็นด้านสุขภาพ:

  • ครัวเรือนประมาณหนึ่งในสามที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้เนื่องจากกังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ประชาชนส่วนใหญ่ทราบดีว่าวัคซีนมีพร้อมให้บริการหรือไม่ สามารถเข้ารับที่ใดบ้างผ่านทางสื่อและสื่อสังคมต่างๆ เป็นส่วนใหญ่
  • ณ เวลาที่ดำเนินการทำการสำรวจนี้ ความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนลังเลไม่กล้าฉีดวัคซีน กลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูง มีรายได้ต่ำ และกลุ่มเยาวชนกว่าร้อยละ 36 ไม่มีแผนจะเข้ารับการฉีดวัคซีน

การสำรวจนี้ให้ภาพรวมถึงผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ ความมั่นคงทางอาหาร กลไกการรับมือ การศึกษา และสุขภาพ ขณะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระดับภาคประชาชนตามเวลาจริง ดังนั้น การติดตามผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจด้วยการดำเนินการสำรวจต่อไปในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางนโยบายและโครงการฟื้นฟูครัวเรือนในประเทศไทยทางเศรษฐกิจที่นับรวมทุกกลุ่มคน