- เที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในแนวโน้มระยะกลางสำหรับการส่งออกและการเติบโต
- ภาคต่างประเทศยังคงมีความกดดัน การส่งออกบริการลดลงอย่างรุนแรงเพราะข้อจำกัดด้านการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่ อีกทั้งการท่องเทยวของชาวต่างชาติที่ยังมีจำนวนเล็กน้อย การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าภายนอกประเทศที่ลดลง แต่กลับมาฟื้นตัวในช่วงท้ายปี 2563
- การผ่อนปรนข้อจำกัดในการเดินทางและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีส่วนช่วยให้การหดตัวของเศรษฐกิจน้อยลงกว่าเดิมที่ร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2563 (เทียบกับปีก่อน) เปรียบเทียบกับการหดตัวลงในไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 12.1 บางตัวชี้วัดด้านการบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน
- การหดตัวลงของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 6.5 สำหรับทั้งปี 2563 ได้ถูกปรับขึ้นมาร้อยละ 1.8 จากการคาดการณ์เดิมในรายงานอัปเดตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 เนื่องจากการเติบโตที่ดีกว่าคาดในช่วงครึ่งปีหลัง
- ที่ผ่านมาภาคการเงินสามารถรับมือกับแรงปะทะของวิกฤติการระบาดได้ แต่อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจที่เปราะบางยิ่งขึ้นและระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ร้อยละ 80.2 ต่อ GDP ในเดือนมีนาคม 2563) และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ค่อนข้างสูงในผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs)
การตอบสนองเชิงนโยบายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือความเป็นอยู่ของครัวเรือนที่เปราะบางที่สุด
- มาตรการด้านการคลังของประเทศไทยได้ถูกนำมาใช้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งในด้านขนาด ความรวดเร็วในการดำเนินการ และการกำหนดเป้าหมายของมาตรการ โดยเน้นไปที่การใช้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อแจกจ่ายเงินเยียวยา การรับมือด้านสาธารณสุข และการฟื้นฟูกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยได้มีการจัดตั้งโครงการแจกเงินเยียวยาขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการใหม่เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้เปราะบาง ที่อาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามกลไกการช่วยเหลือทางสังคมเดิม
- การใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loans) ให้กับ SMEs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโควิดแสดงให้เห็นถึงความท้าทาย สินเชื่ออนุมัติแล้วมีปริมาณต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ อีกทั้งการเติบโตของสินเชื่อใน SMEs ยังชะลอตัวลง
- การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มการใช้จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ต่อ GDP ในปี 2562 เป็นร้อยละ 5.9 ต่อ GDP ในปี 2563 ในขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49.4 ต่อ GDP ในเดือนกันยายน 2563
เศรษฐกิจไทยคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่แนวโน้มยังมีความไม่แน่นอนสูง
- เศรษฐกิจโลกประมาณการว่าจะหดตัวลงร้อยละ 4.4 ในปี 2563 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็นร้อยละ 4.0 ในปี 2564
- คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ในปี 2564 และขยายตัวขึ้นอีกเป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2565 เนื่องมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวและการสนับสนุนจากนโยบายการคลัง
- อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงภายในและภายนอกประเทศ ถ้าหากการระบาดของโควิดครั้งใหม่ในประเทศไทยไม่ถูกควบคุมได้อย่างดี หรือถ้าการติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้ากว่าที่คาดไว้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจซบเซาต่อเนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและมาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ (lockdowns) นอกจากนี้การหยุดสนับสนุนมาตรการทางการคลังและการเงินที่เร็วไปอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของประเทศไทย
- ยังมีความเสี่ยงในด้านลบที่เกิดจากความเปราะบางในภาคการเงิน ความกดดันทางการค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่กลับมาอีกครั้ง และความไม่สงบทางการเมือง ผลกระทบจากโควิด-19 อาจสร้างแผลเป็นในระยะยาวต่อผลผลิตตามศักยภาพ รวมถึงผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับนี้ยังได้วิเคราะห์เชิงลึกในสถานการณ์ล่าสุดของตลาดแรงงานไทยและอภิปายนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูการจ้างงานหลังโควิด-19
- การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายเพิ่มเติมหลายประการในตลาดแรงงาน ผลกระทบเบื้องต้นคือการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และชั่วโมงการทำงานที่ลดลง
- ผลกระทบจากการระบาดของโควิดทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรกของปี 2562 เป็นร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ถือว่าเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 อัตราการว่างยังได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น
- ในไตรมาสที่สองของปี 2563 มีจำนวนงานโดยรวมลดลง 700,000 ตำแหน่งจากปีก่อน และลดลง 340,000 ตำแหน่งจากไตรมาสก่อนหน้า
- การว่างงานเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคค้าส่งและค้าปลีกที่มีตำแหน่งงานลดลงเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมกลายเป็นภาคที่ช่วยรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง
- ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2563 จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงร้อยละ 5.7 สำหรับแรงงานชายและร้อยละ 7.2 สำหรับแรงงานหญิง ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของแรงงานสัญญาจ้างแบบไม่กำหนดชั่วโมงทำงาน (zero-hour workers) และแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงและการเปลี่ยนแปลงหลายด้านในตลาดแรงงานส่งผลให้ค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.4 ในภาคเกษตรกรรมและร้อยละ 1.9 ในภาคอื่นๆ
- ในไตรมาสที่สามของปี 2563 บางผลกระทบในตลาดแรงงานได้ทุเลาลง อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (labor force participation rate) ในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 850,000 ตำแหน่ง จึงส่งผลให้มีการเติบโตของงานมากกว่าร้อยละ 1 เทียบกับปีก่อนหน้า แนวโน้มดังกล่าวแสดงต่อไปในสองเดือนแรกของไตรมาสที่สี่
- กระนั้น อัตราการว่างงานยังคงสูงอยู่ ณ สิ้นปี 2563 จำนวนชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาเหมือนเดิมและในหลายภาคส่วน รวมถึงภาคการผลิตจำนวนชั่วโมงการทำงานยังคงต่ำกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา
- การที่ประเทศไทยมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้สัดส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะลดลง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ การเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของ GDP ต่อหัวจะลดลงร้อยละ 0.86 ในช่วงสิบปีต่อจากนี้
- เพื่อให้การฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เป็นไปอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศไทยที่ประชากรกำลังสูงวัยอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการสร้างงานที่มีคุณภาพในภาคอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจแห่งความรู้ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย การเพิ่มผลิตภาพและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและแรงงานหญิงสามารถถ่วงดุลผลกระทบเชิงลบของภาวะประชากรสูงวัยได้
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในการจ้างงาน
ในระยะสั้น
(i) จัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมทักษะและการปรับทักษะใหม่และให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้ามาในตลาดแรงงานได้
(ii) การกลับมาระบาดใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทยอาจต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการจ้างงานที่รักษาแรงงานไว้ เช่น การอุดหนุนค่าจ้างที่พยายามให้แรงงานมีงานทำ และนโยบายการสร้างงานซึ่งจะช่วยชดเชยชั่วโมงการทำงานที่ลดลง
นอกจากนโยบายระยะสั้นข้างต้น ภาครัฐสามารถพยายามเพิ่มเติมด้วยนโยบายในระยะยาว ได้แก่
(iii) สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการและมุ่งเน้นผลลัพธ์มากขึ้น โดยการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะและปรับปรุงการให้บริการจัดหางานให้มีความทันสมัย
(iv) ส่งเสริมการจ้างงานในภาคการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดการดูแลผู้สูงอายุที่กำลังเติบโต และต้องการทั้งแรงงานที่มีทักษะต่ำและผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี
(v) ทำให้การดูแลเด็กเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นและลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แรงงานผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น
(vi) สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ จัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับผู้สูงอายุ และลงทุนปรับปรุงสถานที่ทำงานให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ปรับใช้แผนการจ่ายผลตอบแทนตามผลงาน และพิจารณาขยายอายุเกษียณเพื่อยืดอายุการทำงานของผู้สูงอายุ