Skip to Main Navigation

ภาพรวม

ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และขยับจากการเป็นประเทศรายได้ต่ำ สู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงได้รับการกล่าวขานว่าประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการเติบโดทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและต่อเนื่อง รวมถึงการลดความยากจนได้อย่างน่าทึ่ง เศรษฐกิจของไทยเติบโตในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยเฉลี่ย ในช่วงปี 2503-2539 และเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงปี 2542-2548 หลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย การเติบโตนี้ได้สร้างงานหลายล้านตำแหน่ง ที่ช่วยให้คนหลายล้านคน พ้นจากความยากจน สวัสดิการในด้านต่าง ๆ มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เช่น มีเด็กจำนวนมากขึ้นที่ได้รับการศึกษามากขึ้น และเกือบทุกคนในเวลานี้ได้รับการประกันสุขภาพ ขณะที่การประกันสังคมในรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้รับการขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตจากการส่งออก ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ดูจะลดน้อยลงไปอย่างน่าใจหาย เนื่องจากภาวะชะงักงันของการผลิต การเติบโตโดยเฉลี่ยของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) ชะงักลงจากระดับสูงสุดที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ในช่วงยุค 2540 เป็นร้อยละ 1.3 ในช่วงปี 2552-2560 การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากกว่าร้อยละ 40 ในปี 2540 เป็นร้อยละ 16.9 ของจีดีพีในปี 2562 ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกส่อแววชะงักงัน

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรงยิ่งขึ้น เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 ซึ่งรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 (ลดลงร้อยละ 0.3 ในปี 2551) และรองจากการหดตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2541 ซึ่งเป็นการหดตัวของปีเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ทำการสำรวจทางโทรศัพท์อย่างคร่าว ๆ ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2564 ซึ่งประมาณการว่า ครัวเรือนกว่าร้อยละ 70 มีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมากในการลดความยากจนจากร้อยละ 58 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2563 เนื่องจากอัตราการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่ร้อยละ 79 ของผู้ยากจน ยังคงเป็นประชากรในชนบท และส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ความคืบหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยได้ชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และความยากจนเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2559, 2561 และ 2563 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ รายได้จากการเกษตร ธุรกิจ และค่าจ้างที่หยุดนิ่ง และวิกฤตโควิด-19  สถิติในปี 2563 แสดงให้เห็นอัตราความยากจนในชนบทที่สูงกว่าในเขตเมืองถึง 3 จุดร้อยละ และจำนวนผู้ยากจนในชนบทสูงกว่าในเขตเมืองถึง 2.3 ล้านคน ความยากจนในแต่ละภาคยังมีความเหลื่อมล้ำกัน โดยภาคใต้และตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราความยากจนสูงกว่าอัตราความยากจนของประเทศถึง 2 เท่า

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงสูงอยู่ ในปี 2564 ประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยมีค่าสัมประสิทธิ์จินิ (Gini coefficient) อยู่ที่ร้อยละ 43.3 และเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดอันดับที่ 13 จาก 63 ประเทศที่มีการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์จินิ ความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งสูงขึ้น เมื่อพิจารณาถึงการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่ง โดยประชากรที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 ถือครองความมั่งคั่งของประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

รายงานอัปเดตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมษายน 2567 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูงขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2567 ทิศทางเศรษฐกิจปี 2567 อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากแนวโน้มการส่งออกและการลงทุนภาครัฐที่ลดลง การท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ คาดว่าการส่งออกสินค้าจะเติบโตขึ้นจากการค้าโลกที่เอื้ออำนวย แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง และการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดในช่วงกลางปี 2568 นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจะขึ้นไปแตะที่ร้อยละ 90 ของระดับก่อนการแพร่ระบาด

การตอบสนองทางการเงินการคลังของประเทศไทยต่อโควิด-19 ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสวัสดิการครัวเรือนได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ความยากจนจะเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 6.6 ในปี 2565 เนื่องจากมาตรการบรรเทาโควิด-19 เริ่มสิ้นสุดลงและเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น ปัจจัยลบอื่น ๆ รวมถึงราคาพลังงานที่กลับขึ้นมาสูงขึ้น อาจทำให้ช่องว่างทางการคลังลดลงไปอีก เว้นแต่จะมีมาตราการช่วยเหลือทางสังคมที่คุ้มค่าและตรงจุด

ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HCI) ของประเทศไทยในปี 2564 ที่ 0.61 ชี้ว่าผลิตภาพในอนาคตของเด็กที่เกิดในวันนี้จะต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นอยู่ที่ร้อยละ 39  หากได้รับการศึกษาครบถ้วนและมีสุขภาพดี ประเทศไทยมีชื่อเสียงจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความสำเร็จในด้านโภชนาการเด็ก แต่คุณภาพการศึกษายังคงเป็นจุดอ่อนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จากดัชนีดังกล่าว ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับสูง ในด้านจำนวนปีที่คาดว่าจะได้รับการศึกษาและสัดส่วนของเด็กที่ไม่ขาดสารอาหารจนแคระแกรน แต่ไทยมีคุณภาพการศึกษาต่ำ โดยวัดจากผลการทดสอบรวม ประเทศไทยยังเผชิญกับวิกฤตด้านฝีมือแรงงาน โดยเยาวชนและผู้ใหญ่จำนวนมากมีทักษะพื้นฐาน (ทักษะทางอารมณ์และสังคม การอ่านเขียน และดิจิทัล) ต่ำกว่าเกณฑ์ โครงการให้ความช่วยเหลือทางสังคมมีลักษณะกระจัดกระจาย โดยโอกาสที่จะทำการพัฒนาปรับปรุงเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์และประสิทธิภาพยังมีอีกมาก

ภาวะสูงวัยของประชากรจะนำไปสู่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยตรง จากเงินบำนาญภาครัฐและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น งบประมาณรายจ่ายรวมสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคาดว่าจะเพิ่มจากร้อยละ 1.4 ของจีดีพีในปี 2560 เป็นร้อยละ 5.6 ในปี 2603 รายจ่ายสำหรับการดูแลและรักษาพยาบาลผู้สูงอายุในระยะยาว ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประมาณการว่ารายจ่ายของรัฐสำหรับการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 ของจีดีพีในปี 2560 เป็นร้อยละ 4.9 ของจีดีพีในปี 2603 เนื่องจากการสูงวัยของประชากร การขาดมาตรการแก้ไขในเรื่องนี้จะทำให้การรักษาความยั่งยืนทางการคลังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยหน่วงรั้งการเติบโตที่ควรจะเป็น

ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของภัยธรรมชาติยังเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากต้องสูญเสียสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคและกิจการต่าง ๆ ในประเทศ ประเทศไทยเป็นผู้ทิ้งขยะพลาสติกรายใหญ่ลงตามพื้นดิน แม่น้ำลำคลอง และชายฝั่ง ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างกลไกรัฐ-เอกชน-ประชาชนสำหรับการแยกขยะพลาสติก และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกทะเล ปี 2566-2570 และ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด เมษายน 2567

เรื่องเชิงลึก

ข้อมูลเพิ่มเติม

ติดต่อสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศ

สำนักงานประจำประเทศไทย
ชั้น 30 อาคารสยามเทาเวอร์
989 ถนนพระราม 1
ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-686-8300
สำนักงานใหญ่
1818 ถนนเอชเอ็นดับเบิลยู กรุงวอชิงตัน ดึซี 20433
+1-202-473-4709